การศึกษาเปรียบเทียบสมรรถนะของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง แรงจูงใจที่จะนำ และการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาหลักสูตรภาคพิเศษ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Main Article Content

วีระวัฒน์ ปันนิตามัย

Abstract

      การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงลักษณะและระดับของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ลักษณะและระดับของแรงจูงใจที่จะนำ และลักษณะและระดับของการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (MPA) และการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต (MPPM) ภาคพิเศษ รวมถึง ศึกษาเปรียบเทียบลักษณะของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง แรงจูงใจที่จะนำ และการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยส่วนบุคคลของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ของหลักสูตรภาคพิเศษ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักศึกษา MPA และ MPPM ภาคพิเศษ จาก 8 วิทยาเขต ทั่วประเทศ จำนวน 1,489 คน ใช้เครื่องมือในการศึกษา 4 ประเภท ได้แก่ 1) แบบทดสอบคุณลักษณะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง 2) แบบทดสอบแรงจูงใจที่จะนำ 3) แบบทดสอบพฤติกรรมการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และ 4) แบบประเมินพฤติกรรมการบริหารความเปลี่ยนแปลงของผู้นำในระดับการบริหารจัดการทั่วไปและในระดับกลยุทธ์

     ผลการศึกษา พบว่า 1) นักศึกษาหลักสูตร MPA มีคุณลักษณะผู้นำมุ่งปรับเปลี่ยน  โดยเฉพาะด้านความสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และคำนึงถึงความเป็นปัจเจกชนของผู้ตามได้เหนือกว่านักศึกษา MPPM อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  2) นักศึกษา MPA มีแรงจูงใจที่จะนำในทุกองค์ประกอบย่อยสูงกว่านักศึกษา MPPM อย่างมีนัยสำคัญ เรียงตามลำดับจากน้อยไปมาก คือ นำโดยไม่คิดถึงประโยชน์-นำเพราะใจรัก-นำเพราะค่านิยมทางสังคม 3) นักศึกษาทั้ง MPA และ MPPM มีระดับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่างกัน และผลวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า นักศึกษาปีที่ 2 มีแนวโน้มต่อต้านลดลงกว่านักศึกษาชั้นปีที่ 1 4) ผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ พบว่า ประสบการณ์ ตำแหน่งงาน และหลักสูตร เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้ง ตัวแปรหลักสูตร ประสบการณ์ และเพศ สามารถทำนายแรงจูงใจที่จะนำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนพฤติกรรมการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสามารถทำนายได้ด้วยตัวแปรเกรดเฉลี่ยและเพศ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และ 5) คุณลักษณะต่าง ๆ ของการเป็นผู้นำมุ่งปรับเปลี่ยน มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญ กับพฤติกรรมการบริหารของผู้นำในระดับกลยุทธ์ และมากกว่า พฤติกรรมผู้นำในระดับการบริหารจัดการทั่วไป นอกจากนี้ งานวิจัยได้เสนอแนวทางในการคัดเลือกและการพัฒนาศักยภาพของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง แก่การเรียนการสอนหลักสูตร MPA และ MPPM ภาคพิเศษ

Article Details

Section
Articles