Disability issue perceptions: Disability rights and disability as a social problem การรับรู้ประเด็นความพิการ: สิทธิคนพิการและความเป็นปัญหาสังคม
Keywords:
ความพิการ, การระบุประเด็น, โยบายสาธารณะ, ปัญหาสังคม, สิทธิAbstract
บทความวิจัยนี้ มุ่งอธิบายสภาพชีวิตของประชากรคนพิการไทย จากวรรณกรรมด้านคนพิการไทย บทความนี้ฉายภาพชีวิตที่ด้อยโอกาสของคนพิการ ซึ่งน่าจะสะท้อนรูปแบบสามประการ กล่าวคือ คนพิการมีความรู้สึกขาดสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน ที่น่าจะเป็นผลมาจากสวัสดิการคนพิการที่ไม่เพียงพอ ขาดประสิทธิภาพ และคุณภาพ นอกจากนี้ สาธารณชน ที่แม้จะอยู่ในสังคมเดียวกันกับคนพิการ แต่ขาดความสนใจในประเด็นความพิการ งานวิจัยนี้ จึงได้ระบุบุคคลสามกลุ่ม คือคนพิการ บุคลากรในภาครัฐที่ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคม และสาธารณชนทั่วไป ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรูปแบบสามประการข้างต้น จากการใช้กรอบแนวคิดนโยบายสาธารณะเรื่องการนิยามประเด็นปัญหา บทความนี้มีสมมติฐานว่า การที่บุคคลสามกลุ่มนี้ มีมุมมองแตกต่างกันในประเด็นความพิการ เป็นที่มาของสภาวการณ์ และสภาพชีวิตคนพิการไทย หรือกล่าวอย่างจำเพาะเจาะจงได้ว่า บทความนี้คาดว่าจะค้นพบความแตกต่างในมุมมองด้านสิทธิคนพิการ และความเป็นปัญหาสังคมในประเด็นความพิการ
สำหรับระเบียบวิธีวิจัย งานวิจัยนี้ใช้วิธีการสำรวจแบบตัดขวาง เพื่อศึกษามุมมองในประเด็นความพิการในหนึ่งช่วงเวลา และใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณด้วย One-way analysis of variance และ Tukey post hoc tests ตลอดจน Chi square, goodness-of-fit tests และ Cross-tabulation เพื่อพิสูจน์ความแตกต่างของมุมมองดังกล่าว
ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ส่วนใหญ่ตรงกับสมมติฐาน กล่าวคือ คนพิการมีมุมมองเชิงบวกกับสิทธิคนพิการ ในฐานะเป็นสิทธิพิเศษทางสังคม และมองความพิการเป็นปัญหาสังคม มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่พิการอีกสองกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการใช้ทฤษฎีนโยบายสาธารณะเรื่องการนิยามปัญหา โดยเฉพาะใน Kingdon (2003 และ 2005) และ Blankenau (2001) งานวิจัยนี้อภิปรายว่า มุมมองที่แตกแยกในประเด็นความพิการ เป็นเหตุให้ขาดจุดศูนย์รวมในความสนใจต่อปัญหา และการแก้ไขปัญหาในภาครัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐจะตอบสนองมุมมองของสาธารณชน ที่เมินเฉยต่อประเด็นความพิการ โดยมองข้ามความสำคัญของประเด็นความพิการไป พร้อมกับหันไปให้ความสำคัญแก่ประเด็นอื่น ๆ ที่สังคมดูจะให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งการกระทำดังนี้ จะทำให้รัฐได้ประโยชน์เชิงการเมือง มากกว่าที่จะตอบสนองประเด็นความพิการ ที่สังคมไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าใดนัก (Van Horn, Baumer, & Gormley, 2001; Ramesh, 2000; Yu, 1996; Crone, 1993)
สำหรับผลที่ตามมาก็คือ สภาพการณ์ด้านความพิการ และสภาพชีวิตที่ด้อยโอกาส ตลอดจนสวัสดิการคนพิการที่ด้อยคุณภาพ จึงยังคงอยู่ และจากการอภิปรายของ Kingdon (2003 และ 2005) และ Blankenau (2001) บทความวิจัยนี้เสนอแนะว่า คนพิการน่าจะหันไปให้ความสำคัญแก่สิ่งแวดล้อมเชิงการเมืองและนโยบาย ภายในประเด็นความพิการให้มากขึ้น ทั้งนี้อาจผ่านกลุ่มที่คนพิการจัดตั้งขึ้น เช่นสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความพิการ คนพิการอาจจะพยายามแพร่ขยายประเด็นความพิการให้เป็นที่รับรู้สาธารณะให้มากขึ้น หรืออาจพยายามเข้าไปเป็นส่วนประกอบของการปฏิบัตินโยบายสาธารณะด้านความพิการ ตลอดจนอาจอาศัยความช่วยเหลือของบุคคลสำคัญเชิงสังคม ในฐานะเป็นผู้ประกอบการนโยบายด้านความพิการ โดยความพยายามของประชากรคนพิการนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในประเด็นความพิการ ภายในกระบวนการนโยบายสาธารณะ