การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์: ศึกษาเฉพาะกรณีนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่น Social Development and Human Security Policy Analysis: A Case Study of Adolescence Policy
Main Article Content
Abstract
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาพฤติกรรมของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน 2) ศึกษาแนวคิด นโยบาย แผนงาน โครงการ และการปฏิบัติของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายข้าราชการ 3) ศึกษาเปรียบเทียบสภาพปัญหา แนวคิด นโยบาย แผนงาน โครงการ และการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นของประเทศในภูมิภาคอื่นๆ และ 4) นำผลของการศึกษาวิเคราะห์มาจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับวัยรุ่นที่เหมาะสม ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้อาศัยข้อมูลจากผลงานวิชาการ เอกสารวิจัย วิทยานิพนธ์ หนังสือพิมพ์ วารสาร หนังสือราชการ กฎหมาย ระเบียบ ตลอดจนเอกสารนโยบาย แผนงาน โครงการ และรายละเอียดขอบเขตการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลการศึกษาดูงานจากต่างประเทศ ประกอบกับการระดมสมองจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในภูมิภาค 4 ภาคโดยเจาะจงภาคละ 2 จังหวัด พร้อมทั้งได้ใช้แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งผลการศึกษาโดยสรุป พบว่า ปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่นที่ปรากฏมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหาวัฒนธรรมเลียนแบบ รองลงมาได้แก่ ปัญหาความรุนแรง ปัญหาพฤติกรรมทางเพศ การติดสารเสพติด และการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม และพบปัญหาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะและการปฏิบัติ ได้แก่ ปัญหาการกำหนดคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของเด็กและวัยรุ่นตามนโยบายแห่งชาติและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนระยะยาว (พ.ศ. 2545 - 2554) ไม่ชัดเจน รัฐบาลไม่มีการกำหนดนโยบายเชิงรุก เน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การกำหนดนโยบายเป็นการกำหนดนโยบายจากเบื้องบน โครงสร้างของหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดเอกภาพ และขาดการมีส่วนร่วมจากวัยรุ่นและผู้ปกครอง
สำหรับข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) ควรมีการยกฐานะของสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เยาวชน และสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็กให้เป็นหน่วยงานระดับกรมเพื่อให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น 2) ควรมีการบูรณาการนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เหลือเพียงนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์หลักเพียงแผนเดียว 3) ควรมีการส่งเสริมบทบาทของหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวัยรุ่น 4) ควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการดำเนินงานโดยอาศัยแนวคิดด้านการตลาดจากภาคเอกชนมาใช้ 5) ควรมีการรณรงค์ในเชิงกว้างเพื่อสร้างความตระหนักและการยอมรับให้เกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน 6) โครงการสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่วัยรุ่นและเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง 7) รัฐควรให้โอกาสวัยรุ่นที่กระทำผิดหรือเกิดความผิดพลาดในชีวิตให้มีโอกาสอยู่ในสังคมได้ 8) รัฐควรจัดให้มีโครงการหรือช่องทางที่จะรับฟังเสียง (ความคิดเห็น)จากวัยรุ่นหรือสร้างช่องทางเพื่อกระตุ้นเตือนหรือให้ความรู้แก่วัยรุ่นในเรื่องต่างๆ 9) ควรมีการสั่งการให้จังหวัดทุกจังหวัดวิเคราะห์ หรือ X-ray ปัญหาของตนอย่างจริงจัง