การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน A Study on Factors Related to the Effectiveness of Social Welfare Project in the Community Organizations

Main Article Content

ชัยพร พิบูลศิริ

Abstract

                 การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ  คือ  1) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน  2) ศึกษารูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คัดเลือกจากองค์กรชุมชนที่มีความหลากหลายและประสบความสำเร็จในการจัดสวัสดิการสังคม โดยเน้นองค์กรที่เริ่มต้นโดยภาคประชาชนซึ่งจัดสวัสดิการชุมชนให้กับกลุ่มเป้าหมายหลัก 5 กลุ่มของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  คือเด็ก เยาวชน  คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ ใน 4 ภาคของประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  เก็บข้อมูลโดยวิธีการสนทนากลุ่มและสัมภาษณ์เชิงลึก ประมวลและวิเคราะห์ผลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์ผลเชิงเนื้อหา (Content Analysis)

                 ผลการศึกษา

                 1.  ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน มีดังนี้

                 1.1  ปัจจัยที่เป็นเป้าหมายร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน มี 3 ระดับ 1)  ระดับปัจเจก  มีปัจจัยร่วมคือ การดับทุกข์ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกิดความมั่นคงของตนเองและครอบครัว 2) ระดับชุมชน  มีปัจจัยร่วมคือ การสร้างสุขภาวะ ความเอื้ออาทร เศรษฐกิจแบบพอเพียง ลดการบริโภคแบบวัตถุนิยม เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองและการพัฒนาแบบยั่งยืนของชุมชน ภายใต้การเรียนรู้ การเอื้ออาทรและการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ความรู้ร่วมกัน  3) ระดับสังคม มีปัจจัยร่วม คือ การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ยั่งยืน คนในชุมชนมีความสุข เกิดความมั่นคงทางจิตใจ อันส่งผลให้เกิดสันติสุขในสังคม ทุกคนมีคุณค่าและมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม โดยผ่านองค์กรชุมชน

                  1.2 ปัจจัยที่เกิดจากฐานคิดการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน  1) การสร้างจิตสำนึก  2) การพัฒนาแบบยั่งยืน   3) ความศรัทธา ความเชื่อ ต่อผู้นำและปราชญ์ชาวบ้าน  4) การจัดสวัสดิการสังคม ตามหลักของศาสนา ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 5) การใช้คุณธรรมนำกฎหมาย  6) สวัสดิการสังคมตั้งอยู่บนฐานของการเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน

                1.3 ปัจจัยภายในที่มีผลต่อการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน ได้แก่ ปัจจัยองค์กรและการบริหารจัดการ ภาวการนำ ปัจจัยการรวมกลุ่มของสมาชิก ปัจจัยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการปรับตัว ปัจจัยการขยายผลและขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

                1.4 ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน ได้แก่ การได้รับการยอมรับจากบุคคลภายนอกองค์กร ความสอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล การได้รับการหนุนเสริมและสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ

                1.5 ปัจจัยกระตุ้นการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งภายในและภายนอกชุมชน ภาวะวิกฤติทำให้เกิดปัญหาร่วมในชุมชน

                1.6 ปัจจัยความสำเร็จร่วมของการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกการเป็นองค์กรชุมชน การพัฒนาแบบยั่งยืนเพื่อการพึ่งตนเอง ความศรัทธา ความเชื่อ ในผู้นำ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

                2. กระบวนการที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน ประกอบด้วยขั้นตอนหรือบันไดความสำเร็จร่วม ได้แก่ การวิเคราะห์สถานการณ์และวิกฤติของชุมชนโดยกรรมการและผู้นำชุมชน การมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนในทุกระดับและทุกกลุ่มเป้าหมายรวมทั้งภาคีพัฒนาภายในและภายนอกชุมชน ความซื่อสัตย์และจริงใจ การมีจิตสาธารณะ  ผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก กรรมการและผู้นำชุมชน อย่างเท่าเทียม โปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์และแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชุมชน

                 3. รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน  ได้แก่  1) รูปแบบการจัดสวัสดิการองค์กรชุมชนโดยการรวมทุน  2)รูปแบบการจัดสวัสดิการโดยวัฒนธรรม / ศาสนา 3) รูปแบบการจัดสวัสดิการโดยฐานทรัพยากรธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม 4) รูปแบบการจัดสวัสดิการองค์กรโดยวิสาหกิจชุมชน และ 5)รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมโดยองค์กรภาครัฐ

Article Details

How to Cite
พิบูลศิริ ช. (2012). การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรชุมชน A Study on Factors Related to the Effectiveness of Social Welfare Project in the Community Organizations. NIDA Development Journal, 48(1), 57–84. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NDJ/article/view/2808
Section
Articles