ผลของการจัดสรรเงินรางวัลในภาคราชการไทย
Main Article Content
Abstract
แนวความคิดในการปฏิรูประบบราชการให้สามารถบริการประชาชนด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพที่สูงขึ้นเป็นที่มาของความริเริ่มในการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงานของระบบราชการไทยซึ่งเพิ่งเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังและชัดเจนเป็นครั้งแรกเมื่อ 2-3 ปีมานี้ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อศึกษาผลของการจัดสรรเงินรางวัลในภาคราชการไทยโดยใช้การสำรวจความคิดเห็นจากบุคลากรในภาคราชการทั่วประเทศเกี่ยวกับนโยบายและการบริหารจัดการในการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547-2548 โดยการสุ่มตัวอย่างแบบผสมผสานระหว่างการสุ่มแบบกลุ่มและแบบมีชั้นภูมิตามกลุ่มประชากรที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามต้นสังกัดคือ กรม/กระทรวง สถาบันอุดมศึกษา และจังหวัด ได้รับแบบสอบถามกลับมา 2,600 ชุด คิดเป็น 72% ของตัวอย่าง
ผลการศึกษาพบว่า บุคลากรในภาคราชการโดยรวมมีความเห็นด้วยกับนโยบายค่าตอบแทนจูงใจ แต่ยังเห็นว่าการดำเนินการบริหารจัดการด้านค่าตอบแทนจูงใจของสำนักงาน ก.พ.ร. และของหน่วยงานต้นสังกัดอยู่ในระดับที่ควรปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแรงจูงใจในการทำงานสูงสุดคือ มุมมองความยุติธรรมด้านการจัดสรรของบุคลากร ในขณะที่นโยบายในการจัดสรรเงินรางวัลและประสิทธิภาพการดำเนินงานของสำนักงานก.พ.ร. จะส่งผลกระทบมากกว่ามุมมองความยุติธรรมด้านการจัดสรรต่อความพึงพอใจในงาน ปัจจัยเชิงบริบทโดยเฉพาะมุมมองการประเมินหน่วยงานของบุคลากรมีผลกระทบบางส่วนต่อแรงจูงใจในการทำงานและความพึงพอใจในงาน การจัดสรรเงินรางวัลส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจในการทำงานและความพึงพอใจในงานของบุคลากรในระดับล่างมากกว่าในระดับสูง รวมทั้งต่อบุคลากรในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาและจังหวัดมากกว่าในสังกัดกรม/กระทรวง