ผลกระทบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานงานศิลปหัตถกรรมโลหะที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกรุงรัตนโกสินทร์ The Impact on Safety, Occupational Health, and Environment in Working for Local Wisdom Metal Handicraft Work in Bangkok Metropolitan
Main Article Content
Abstract
การวิจัยเพื่อหาผลกระทบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานงานศิลปหัตถกรรมโลหะที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกรุงรัตนโกสินทร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจโรค มลพิษจากสิ่งแวดล้อม อุบัติเหตุ การบาดเจ็บจากการทำงานเพื่อนำมาประเมินผลความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กลุ่มประชากรในการศึกษาได้แก่ประชากรในพื้นที่ 5 ชุมชน จำนวน 48 คน โดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้การประเมินผลการทดลองเปรียบเทียบก่อนและหลังรูปแบบที่สร้างขึ้น โดยใช้รูปแบบการ ชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยง มอก. 18001 และการวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย (JSA)
ผลการศึกษา พบว่า การชี้บ่งอันตรายและการประเมินความเสี่ยงมอก.18001 ก่อนและหลังใช้รูปแบบ คือ
ชุมชนบ้านบุ ผลิตขันลงหิน พบว่า ขั้นตอนการหลอมตี ก่อนใช้รูปแบบจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง คิดเป็นร้อยละ 82.71 ของการประเมิน หลังจากใช้รูปแบบ พบว่า จัดอยู่ในระดับความเสี่ยงยอมรับได้ คิดเป็นร้อยละ 50.61 ของการประเมิน
ชุมชนบ้านบาตร ผลิตบาตรพระสงฆ์ พบว่า ขั้นตอนการแล่นบาตร (เป่าแล่น) ก่อนใช้รูปแบบจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง คิดเป็นร้อยละ 93.59 ของการประเมิน หลังจากใช้รูปแบบ พบว่า ระดับความเสี่ยงปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 48.14 ของการประเมิน
ชุมชนบ้านเนิน ผลิตฆ้องวง พบว่า ขั้นตอนการเจียรและกลึง ก่อนใช้รูปแบบระดับความเสี่ยงสูง คิดเป็นร้อยละ 85.18 ของการประเมิน หลังจากใช้รูปแบบ พบว่า ระดับความเสี่ยงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 46.91 ของการประเมิน
ชุมชนบ้านตีทอง ผลิตทองคำเปลว พบว่า ขั้นตอนการตีทองใส่กุบ ก่อนใช้รูปแบบระดับความเสี่ยงสูง คิดเป็นร้อยละ 86.42 ของการประเมิน หลังจากใช้รูปแบบ พบว่า ระดับความเสี่ยงยอมรับได้ คิดเป็นร้อยละ 64.19 ของการประเมิน
ชุมชนบ้านช่างทอง ผลิตทองรูปพรรณ พบว่า ขั้นตอนการหลอมทองคำ ก่อนใช้รูปแบบระดับความเสี่ยงสูง คิดเป็นร้อยละ 67.90 ของการประเมิน หลังจากใช้รูปแบบพบว่า ระดับความเสี่ยงยอมรับได้ คิดเป็นร้อยละ 37.03 ของการประเมิน
สรุปได้ว่า ผลกระทบจากการทำงานหลังจากการใช้รูปแบบการประเมินความเสี่ยงได้ผลลัพธ์จากผู้ปฏิบัติ ในภาพรวมทั้ง 5 ชุมชน ใน 3 กลุ่มที่มีความเสี่ยง พบว่า มีอัตราความเสี่ยงในการปฏิบัติงานลดลง ดังนี้ 1) กลุ่มโรคจากการทำงาน พบว่า มีอัตราความเสี่ยงเฉลี่ยลดลง คิดเป็นร้อยละ 16.77 2) กลุ่มมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการทำงาน พบว่า มีอัตราความเสี่ยงเฉลี่ยลดลง คิดเป็นร้อยละ 10.31 และ 3) กลุ่มอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ พบว่า มีอัตราความเสี่ยงเฉลี่ยลดลง คิดเป็นร้อยละ 15.62