Citizen Attitudes Toward the Concept of Good Governance: A Survey of the North and Northeast Regions of Thailand

Main Article Content

Suchitra Punyaratabandhu

Abstract

   การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการสำรวจทัศนคติของประชาชนที่มีต่อหลักธรรมาภิบาลจำนวน 4,785 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยจำแนกทัศนคติต่อหลักธรรมาภิบาลออกเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย หลักความรับผิดชอบ หลักการมีส่วนร่วม หลักนิติธรรม และหลักความโปร่งใส

    สมมติฐานในการวิจัย คือ ตัวแปรด้านประชากร สถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การรับรู้สิทธิของประชาชน ตลอดจนความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และความไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีผลต่อทัศนคติต่อธรรมาภิบาล

     ผลการศึกษาพบว่า  แม้สังคมไทยจะมีพื้นฐานวัฒนธรรมที่เน้นการนับถือความอาวุโส และมีความสัมพันธ์ในรูปแบบอุปถัมภ์ แต่ผลการสำรวจประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  กลับสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนมีทัศนคติที่สอดคล้องต่อหลักธรรมาภิบาลโดยรวม จำแนกเป็นทัศนคติที่สอดคล้องต่อหลักความรับผิดชอบมากที่สุด รองลงมาคือ หลักความโปร่งใส หลักนิติธรรม และหลักการมีส่วนร่วม ตามลำดับ

     ในประเด็นต่อมาคือ การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อทัศนคติต่อธรรมาภิบาลโดยใช้ค่าสหสัมพันธ์บางส่วน (partial correlation) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า ตัวแปรที่มีความสัมพันธ์ต่อทัศนคติต่อธรรมาภิบาล ได้แก่ ระดับการศึกษา การรู้สิทธิของประชาชน ความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล รวมทั้งความไว้วางใจที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตัวแปรดังกล่าวข้างต้นมีความสัมพันธ์ต่อทัศนคติต่อธรรมาภิบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่ทว่าเป็นความสัมพันธ์ในระดับต่ำ โดยระดับการศึกษาและการรับรู้สิทธิของประชาชนมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อทัศนคติต่อธรรมาภิบาล ในขณะที่ความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความสัมพันธ์เชิงลบต่อทัศนคติต่อธรรมาภิบาล นอกจากนี้ยังพบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีอีก 2 ปัจจัยที่มีผลต่อทัศนคติต่อธรรมาภิบาล คือ ระดับความเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์เชิงบวก และอายุที่มีความสัมพันธ์เชิงลบ ในขณะที่ เพศ ความถี่ในการอ่านหนังสือพิมพ์ และการรู้จักบุคคล/องค์การต่างๆไม่มีผลต่อทัศนคติแต่อย่างใด

      จากผลการศึกษาข้างต้นนำมาสู่ข้อสรุปได้ว่า การส่งเสริมทัศนคติต่อธรรมาภิบาลอาจทำได้โดยการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ประชาชนให้ตระหนักถึงสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย รวมทั้งการรับทราบถึงข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจเผยแพร่ผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อ สถาบันการศึกษา และองค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้คือ หน่วยงานภาครัฐเองซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ซึ่งควรส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยจัดรูปแบบการนำเสนอให้เหมาะสมต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีระดับการศึกษาที่แตกต่างกันด้วย

Article Details

Section
Articles