การผนวกมิติเวลาเข้าไปในบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ Incorporating Time into the National Transfer Account

Main Article Content

มัทนา พนานิรามัย

Abstract

     รายงานฉบับนี้เป็นส่วนที่ทำเพิ่มจากการสร้างบัญชีกระแสการโอนประชาชาติซึ่งแจกแจงการบริโภค รายได้จากแรงงานและการโอนภายในและระหว่างครัวเรือนตามอายุ วัตถุประสงค์ของงานวิจัยคือนำมิติเวลาไปผนวกเข้ากับบัญชีกระแสการโอนประชาชาติเพื่อช่วยให้เห็นภาพการเกื้อหนุนระหว่างรุ่นได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น มูลค่าของการเกื้อหนุนที่เกิดจากการใช้เวลาจะประเมินจากมูลค่าของเวลาที่ใช้ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานบ้าน การดูแลผู้อื่นและการให้บริการชุมชน ทั้งนี้เพราะการใช้เวลาในกิจกรรมเหล่านี้ผลประโยชน์ตกแก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้ทำกิจกรรมได้

      ผลปรากฏว่าการโอนทั้งในรูปของเงิน สิ่งของและในรูปของการให้เวลาส่วนมากเป็นการโอนภายในครัวเรือน คนไทยวัย 25-57 ปีเป็นผู้ให้สุทธิในรูปของเงินหรือสิ่ง แต่การให้ในรูปของเวลาจะเริ่มเร็วกว่าแต่จะยุติช้ากว่า เด็กอายุ 0-4 ปีเป็นผู้รับประโยชน์สุทธิจากการใช้เวลาของผู้อื่นในมูลค่าที่สูงที่สุดโดยประเมินค่าได้ถึงปีละ 25,964 บาท และเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มูลค่าของเวลารับสุทธิสูงกว่ามูลค่าของเงินและสิ่งของรับ ผู้สูงอายุยังเป็นผู้ให้เวลาสุทธิจนกระทั่งอายุ 80 ปีจึงเริ่มเป็นผู้รับสุทธิ  ต้นทุนสังคมของการเลี้ยงดูคนไทยคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนกระทั่งอายุ 24 ปี ตกประมาณ 1.428 ล้านบาท แหล่งเงินของการเลี้ยงดูนั้นร้อยละ 19 เกิดจากแรงงานของตนเอง อีกร้อยละ 60 เกิดจากการเกื้อหนุนภายในครัวเรือนทั้งในรูปของเงิน สิ่งของและเวลา และอีกร้อยละ 20 เป็นการเกื้อหนุนจากสังคมโดยผ่านกลไกของรัฐในรูปของการให้บริการด้านการศึกษา

Article Details

How to Cite
พนานิรามัย ม. (2012). การผนวกมิติเวลาเข้าไปในบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ Incorporating Time into the National Transfer Account. NIDA Development Journal, 48(3), 65–87. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NDJ/article/view/2833
Section
Articles