การบริโภคแอลกอฮอล์กับความยากจน Alcohol Consumption and Poverty

Main Article Content

อัญชนา ณ ระนอง

Abstract

         มีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่ความยากจน  งานวิจัยนี้จึงใช้ข้อมูลในเชิงปริมาณมาทดสอบสมมติฐานนี้ โดยศึกษาค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และศึกษาผลของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อความยากจนของครัวเรือน  โดยวิเคราะห์ว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้คนที่ไม่จนตกมาอยู่ภายใต้เส้นความยากจนมากน้อยเพียงใด
       การศึกษาใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม (Socio-economic survey หรือ SES) ปี 2529-2547 มาคำนวณหาเส้นความยากจนตามวิธีใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยในปี 2547 หลังจากนั้นเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อรายจ่ายรวมและต่อรายได้รวมของครัวเรือน และคำนวณหาสัดส่วนของครัวเรือนที่จนเพราะรายจ่ายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อครัวเรือนทั้งหมด 
         ผลการศึกษาพบว่ารายจ่ายเพื่อการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ทั้งในและนอกบ้าน) ในปี 2547 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.67  ของยอดรายจ่ายรวมของครัวเรือน  แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับรายจ่ายที่สำคัญได้แก่ รายจ่ายเพื่อการศึกษาและรายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลแล้วก็จะพบว่า รายจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยของครัวเรือนมีขนาดสูงประมาณ 3 ใน 4 ของรายจ่ายสำคัญเหล่านี้ในแต่ละเดือน 
        เมื่อเปรียบเทียบแนวโน้มรายจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวม (ทั้งในและนอกบ้าน) ต่อรายได้หรือรายจ่ายรวมโดยเฉลี่ยจำแนกตามเขตพื้นที่ (ทั้งประเทศหรือแต่ละภูมิภาค) ระหว่างปี 2529-2547 พบว่ารายจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของครัวเรือนเฉลี่ยทั้งประเทศคิดเป็นร้อยละ 1.0-2.5 ของรายได้เฉลี่ยรวมของครัวเรือน  หรือถ้าเทียบกับรายจ่ายก็จะอยู่ระหว่างร้อยละ 1.1-2.7 ของรายจ่ายเฉลี่ยรวมของครัวเรือน  เมื่อพิจารณาลงเป็นรายภูมิภาคจะพบว่าร้อยละของรายจ่ายแอลกอฮอล์เคลื่อนไหวในช่วงที่กว้างกว่าสัดส่วนการใช้จ่ายของทั้งประเทศเล็กน้อย  กล่าวคือ คิดเป็น 0.9-2.9% และ 0.9-3.1% ของรายได้รวมและรายจ่ายรวมตามลำดับ 
      การศึกษาผลของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อความยากจนของครัวเรือนพบว่าในบรรดาครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงกว่า 8,300 บาทต่อเดือนในปี 2547 (ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้เฉลี่ยของคนไทย) นั้น ไม่มีครัวเรือนใดเลยที่เมื่อหักรายจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกแล้ว จะมีผลทำให้ครัวเรือนเหล่านี้ตกลงไปอยู่ใต้เส้นความยากจน  ในขณะที่กลุ่มของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่านั้น มีทั้งครัวเรือนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนอยู่แล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำกว่า 2,500-3,000 บาทต่อเดือนในปี 2547) และครัวเรือนอีกบางส่วนที่มีรายได้ก่อนหักรายจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าเส้นความยากจน  แต่เมื่อหักรายจ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมีรายได้สุทธิที่ตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน ครัวเรือนส่วนนี้ถือได้ว่าเป็นครัวเรือนที่จนเพราะรายจ่ายด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
        ในระหว่างปี 2529-2547 สัดส่วนของครัวเรือนที่จนเพราะรายจ่ายด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แกว่งตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 0.6-1.45 ของครัวเรือนทั้งหมด  ในบรรดาครัวเรือนที่ยากจนเพราะรายจ่ายแอลกอฮอล์นั้น มีไม่ถึง 1 ใน 3 ที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้าน แสดงให้เห็นว่าการบริโภคแอลกอฮอล์กันภายในครัวเรือนและบ้านใกล้เรือนเคียงน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ที่บริโภคแอลกอฮอล์ประสบกับภาวะความยากจนมากกว่าการดื่มนอกบ้านตามที่มักจะเชื่อกัน  
        จากการคำนวณผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อความยากจนโดยใช้ค่าส่วนต่างระหว่าง normalized poverty gap ก่อนและหลังหักค่าใช้จ่ายด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าในระหว่างปี 2529-2547 ผลกระทบของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อความยากจนของครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2535 (ยกเว้นในช่วงปี 2543 ที่เพิ่มขึ้น)  ในปี 2547 ขนาดของผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 0.24 และร้อยละ 0.14 ของเส้นความยากจนที่คำนวณจากด้านรายได้และรายจ่ายตามลำดับ  ขณะที่เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มคนที่ยากจน พบว่าขนาดผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อความยากจนในหมู่คนจนอยู่ที่ร้อยละ 0.17 และ 0.10 ของเส้นความยากจนที่คำนวณจากด้านรายได้และรายจ่ายตามลำดับ สาเหตุที่ผลกระทบในส่วนของคนจนน้อยกว่าเป็นเพราะโดยเฉลี่ยแล้วครัวเรือนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนอยู่แล้วมีรายจ่ายด้านแอลกอฮอล์ต่ำกว่าครัวเรือนที่อยู่เหนือเส้นความยากจน  
         ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบทางตรงต่อความยากจนไม่มากนัก ซึ่งอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและผลิตภาพการทำงานซึ่งย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจของครัวเรือนในระยะยาว หรือผลทางอ้อมที่มีต่อการตายและการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุ  การให้ความรู้หรือการรณรงค์กับประชาชนจึงควรให้ความรู้ที่ถูกต้อง คือควรหันไปเน้นที่ผลกระทบที่สำคัญอื่นๆ ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  แทนที่จะเน้นผลที่มีต่อความยากจนอย่างที่ผ่านมา  นอกจากนี้ การศึกษาพบว่าคนจนเพราะการดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านมากกว่าการดื่มนอกบ้าน ประกอบกับข้อมูลบ่งชี้ว่าคนไทยมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ อีกถึงกว่า 140 ประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนมากยังมองว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย  การที่จะลดผลกระทบด้านลบจากแอลกอฮอล์จึงควรเน้นที่การเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนในเรื่องนี้ด้วย

Article Details

How to Cite
ณ ระนอง อ. (2012). การบริโภคแอลกอฮอล์กับความยากจน Alcohol Consumption and Poverty. NIDA Development Journal, 48(3), 89–124. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NDJ/article/view/2834
Section
Articles