ความสอดคล้องระหว่างดัชนีวัดสถานภาพเศรษฐกิจสังคมที่สร้างโดยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบหลักและโมเดลไดฮ็อบปิต (Consistency between Socioeconomic Status Indices Constructed by Principal Component Analysis and DiHOPIT Model)
Main Article Content
Abstract
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสอดคล้องของดัชนีวัดสถานภาพเศรษฐกิจสังคมที่สร้างจากวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (Principal component analysis) และโมเดลไดฮ็อบปิต (DiHOPIT model) ข้อมูลที่นำมาใช้ได้เป็นข้อมูลทรัพย์สินของครัวเรือนจากระบบเฝ้าระวังทางประชากรกาญจนบุรี (โครงการกาญจนบุรี) รอบ 1 (N=11,138) และรอบ 5 (N=11,478) และข้อมูลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของประชากร พ.ศ. 2548 – 2549 (N=80,072) หน่วยของการวิเคราะห์คือครัวเรือน
ผลการศึกษาพบว่าเมื่อนำดัชนีวัดสถานภาพเศรษฐกิจสังคมที่สร้างจากแต่ละวิธีมาตรวจสอบความสอดคล้องโดยใช้การทดสอบสหสัมพันธ์ พบว่า ค่าสหสัมพันธ์ที่วัดจากข้อมูลโครงการกาญจนบุรี รอบ 1 รอบ 5 และการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของประชากร พ.ศ. 2548 – 2549 เท่ากับ 0.722 (p<.01), 0.668 (p<.01) และ 0.684 (p<.01) ตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นค่าที่สูงในระดับที่ยอมรับได้ ผลของการศึกษาครั้งนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการที่จะเลือกใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งในการสร้างดัชนีดังกล่าว การศึกษานี้เสนอให้ใช้วิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก ซึ่งให้ผลเป็นดัชนีที่สอดคล้องกับวิธีการใช้โมเดลไดฮ็อบปิต แต่ขั้นตอนการสร้างยุ่งยากน้อยกว่า