ประสิทธิภาพด้านเทคนิคและการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพของบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทย
Main Article Content
Abstract
บริษัทประกันวินาศภัยต่างมีกรมธรรม์หลายประเภทแต่คล้ายคลึงกันที่นำเสนอต่อสาธารณะ โดยใช้ทรัพยากรปัจจัยนำเข้าที่หลากหลายแตกต่างกันทั้งประเภทและปริมาณ การศึกษานี้จึงนำเสนอการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทย ที่ดำเนินการในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2545–2548 จำนวน 58 แห่ง โดยใช้ระเบียบวิธี DEA และตัวแบบ CCR และ BCC แบบ Input–Oriented เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลิตภาพ (Productivity Management) และศึกษาการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพโดยใช้ดัชนี Malmquist ตัวแปรผลผลิตในตัวแบบกำหนดให้เป็นจำนวนกรมธรรม์ จำแนกตามประเภทธุรกิจ ส่วนตัวแปรปัจจัยนำเข้าในตัวแบบได้คัดเลือกโดยขั้นตอนการทดสอบทางสถิติใหม่ 2 วิธี จากตัวแปรปัจจัยนำเข้า จำนวน 5 ตัวแปรที่คัดเลือกไว้เบื้องต้นจนเหลือเพียง 3 ตัวแปรที่มีผลกระทบต่อคะแนนประสิทธิภาพ (Efficiency Score) อย่างมีนัยสำคัญ การคัดเลือกตัวแปรนำเข้าโดยขั้นตอนใหม่ทั้ง 2 วิธีที่นำเสนอให้ผลลัพท์เหมือนกัน นอกจากนี้ประสิทธิภาพจากขนาดที่คำนวณได้มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียรสันเชิงนิเสธที่มีนัยสำคัญกับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทประกันวินาศภัยต่อเบี้ยประกันที่รับตรงจากกรมธรรม์ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียรสันระหว่างค่าเฉลี่ยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อเบี้ยประกันที่รับตรงกับค่าเฉลี่ยเรขาคณิตการเปลี่ยนแปลงคะแนนประสิทธิภาพและค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียรสัน ระหว่างอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อเบี้ยประกันที่รับตรงกับค่าเฉลี่ยเรขาคณิตการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพ Malmquist มีค่าเป็นลบอย่างมีนัยสำคัญตามที่คาดไว้