การพัฒนาด้านการชลประทานในภาคตะวันออก: การพัฒนาคุณภาพชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453)

Main Article Content

สุวิชัย โกศัยยะวัฒน์

Abstract

       การชลประทานมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชากรอยู่เป็นอันมาก เพราะพื้นฐานการประกอบอาชีพของคนไทยคือการเกษตรซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก  แต่เดิมการเกษตรของไทยขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเป็นหลัก  อาศัยน้ำจากน้ำฝนและน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสำคัญย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและผลผลิตตามมา  ดังที่ทราบว่าปีใดมีน้ำมากผลผลิตเกิดความเสียหาย  ปีใดน้ำน้อยผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและคุณภาพของผลผลิตย่อมลดลงไปด้วยเช่นกัน  ฉะนั้นการพัฒนาด้านการชลประทานจึงเป็นการจัดเตรียมปริมาณและสภาพน้ำให้แก่ประชากรเพื่อทำการเกษตรได้อย่างเหมาะสม  ป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพราะปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอหรือฝนไม่ตกต้องตรงตามฤดูกาลหรือปริมาณน้ำมากเกินความจำเป็นในบางปีจะได้เก็บน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลนเพื่อประโยชน์ด้านการเกษตรจะได้ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง  อันส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตและคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศด้วยโดยตรง

   ในสมัยรัชกาลที่ 5  เป็นยุคแห่งการพัฒนาประเทศในทุกด้านเพื่อนำประเทศก้าวสู่ความทันสมัยในสายตานานาอารยประเทศเมื่อพิจารณาด้านการชลประทานอันเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพตามครรลองของวิถีไทยในขณะนั้น  พบว่า  (กรมชลประทาน 2471)  การเกษตรยังอาศัยธรรมชาติเป็นหลักแต่ธรรมชาติเริ่มเปลี่ยนแปลง  ปีใดฝนตกไม่ตรงตามฤดูปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหากับผลผลิตอีกทั้งผลกระทบจากการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกในสมัยรัชกาลก่อน  ไทยต้องส่งข้าวเป็นสินค้าออก  ทำให้ต้องปลูกข้าวมากขึ้นกว่าเดิมหากพึ่งธรรมชาติเพียงอย่างเดียวย่อมประสบปัญหาแน่นอน

Article Details

Section
Articles