Voices in EFL Education เสียงสะท้อนจากห้องเรียนภาษาต่างประเทศภาษาอังกฤษ
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่านักเรียนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษโดยมีต้นทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) ที่หลากหลายมีการปรับตัวเองและบทบาทของตนเอง เพื่อให้เข้ากับปริจเฉททางวิชาการของสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ศึกษาอยู่ได้อย่างไรในห้องเรียนภาษาอังกฤษที่ “มีการปะทะกันทางมโนคติและความหมายทางการเมืองที่ต้องการให้ เป็นเด็กไทย แต่ความคิดเป็นสากล” ในยุคโลกาภิวัตน์ บทความฉบับนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ศึกษาลงลึกนักศึกษา 2 คนที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมในการเรียนภาษาอังกฤษน้อยกว่าผู้ที่เข้าร่วมงานวิจัยครั้งนี้ มีการใช้สัมภาษณ์กลุ่ม การสังเกตในห้องเรียน และการเก็บรวบรวมเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ผ่านมุมมองของ Bakhtin ที่ว่า ในการสื่อสารแต่ละข้อความจะมีหลากหลายความคิดที่หล่อหลอมความคิดของผู้สื่อสาร ดังนั้นการตีความสารต่างๆจึงไม่สามารถตีความตามรูปแบบผิวเผินเท่านั้น
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า นักศึกษาทั้ง 2 คนที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ต่ำกว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนต้องเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับปริจเฉททางวิชาการของสถาบันการศึกษาของตนค่อนข้างมากทั้งในแง่ตัวเนื้อหาทางวิชาการและการพัฒนาทักษะทางสังคมในการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงโต้ตอบกับอาจารย์ผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียน สภาพภูมิศาสตร์และการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นเงื่อนไขที่บทบาทสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ในวิชาภาษาอังกฤษของนักศึกษาทั้งสอง
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศภาษาอังกฤษในยุคศตวรรษที่ 21 มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การสอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่ครั้งหนึ่งถือว่า เป็นอาชีพที่มั่นคง เป็นที่เคารพยกย่องในสังคม เกิดการสั่นคลอน ทางพฤตินัย (de facto) เนื่องจากกระแสกระบวนการปรับพฤติกรรมให้มีลักษณะโลกตามลักษณะถิ่น (glocalization) ซึ่งต้องการให้ครูสอนภาษาอังกฤษปรับบทบาทมากขึ้นมิใช่อาชีพที่สอนเพียงทักษะทางภาษาแต่ยังรวมถึงทักษะอื่นๆ อีกเพื่อสร้างพลเมืองโลก (global citizen) ที่มีความตื่นตัว