การพัฒนานโยบายการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้:บทวิเคราะห์เจตนารมณ์ของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

Main Article Content

ปกรณ์ ปรียากร

Abstract

         ด้วยการวิเคราะห์เอกสาร จดหมายเหตุ บทความ รายงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รายงานการประชุม พร้อมทั้งการวิเคราะห์กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ  และการสัมภาษณ์บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ บทความนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ว่า หนึ่ง รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีสาระสำคัญและเจตนารมณ์ในการที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด สอง รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มีผลทำให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องมีการพัฒนานโยบายอะไรบ้าง อย่างไร และ สาม เพื่อให้การพัฒนานโยบายสาธารณะมีประโยชน์ในการสร้างสังคมแห่งความรู้โดยแท้จริง  หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จำเป็นต้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานที่เหมาะสมอย่างไร 

        ผลการศึกษาพบว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐  มีเจตนารมณ์ที่จะผลักดันให้สังคมไทยพัฒนาไปสู่สังคมแห่งความรู้  นอกจากการศึกษาเรียนรู้จะเป็นทั้งสิทธิเสมอกันของประชาชนในการรับบริการด้านการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว รัฐยังต้องสนับสนุนคุ้มครองและส่งเสริมการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน  การศึกษาทางเลือกของประชาชน  การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแข็งขันอีกด้วย

       ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นเจตจำนงบังคับให้รัฐบาลปฏิบัติตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐอย่างจริงจัง  ในการพัฒนาคุณภาพและการจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐานทุกระดับและทุกรูปแบบ  โดยต้องจัดให้มีแผนและกฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษา รวมทั้งพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก  โดยเน้นการเสริมสร้างคุณภาพของผู้เรียนให้ประกอบด้วยความมีวินัย มีจิตอันเป็นสาธารณะ และยึดมั่นในอุดมการณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนั้นต้องมีแผนการบริหารราชการแผ่นดินที่จะผลักดัน  ส่งเสริม  และสนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่น  ชุมชน  องค์การทางศาสนาและเอกชนซึ่งมีความพร้อม  ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมและสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ไปพร้อม ๆ  กับส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปะวิทยาการแขนงต่าง ๆ  และเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ

 

Article Details

Section
Articles