การสร้างจริยธรรมของสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลการจัดจริยศึกษาดีเด่นระดับประถมศึกษาในภาคใต้ Ethics Development of Schools Winning Outstanding Ethics Education Management Award’s at Primary Level in Southern Thailand.
Main Article Content
Abstract
งานวิจัย นี้เป็นงานวิจัยที่ต่อเนื่องจากงานวิจัยที่ผู้วิจัยได้ศึกษามาคือเรื่อง กระบวนทัศน์ทางจริยธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (Ethical Paradigms of Prince of Songkla University’s Students) เมื่อปี พ.ศ.2545 ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวพบว่า นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเหล่านี้ จริยธรรมที่เขายึดถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันได้มาจากการอบรมสั่งสอนของครูในขณะที่เขาศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาว่าโรงเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 สร้างจริยธรรม (หรือพัฒนาจริยธรรม) กันอย่างไร ผู้วิจัยต้องการหาแนวทางการสร้างจริยธรรมที่ผ่านการลองผิดลองถูกแล้ว จนพบแนวทางที่ประสบผลสำเร็จคือ ผู้ดำเนินงานได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียนและครูได้รับรางวัลการจัดจริยศึกษาดีเด่น เพื่อจะได้นำแนวทางที่ถูกต้องนี้ไปเผยแพร่ต่อไป การศึกษานี้ได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก
สรุปผลจากการวิจัยนี้ได้ว่า การสร้างจริยธรรมซึ่งจะทำให้เกิดผลสำเร็จนั้นประกอบด้วย ขั้นตอนและปัจจัยที่สำคัญดังต่อไปนี้คือ
1. การเลือกจริยธรรมที่จะสร้าง (หรือพัฒนา) ควรเลือกเป็นกลุ่ม เพราะจริยธรรมแต่ละอย่างจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน การเลือกสร้างจริยธรรมเดี่ยว ๆ จะไม่ได้ผลดี งานวิจัยนี้พบว่ามีจริยธรรม 5 กลุ่ม ที่ได้รับความสนใจ (เน้น) ได้แก่ การมีมารยาทและไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต, การรักษาวินัย ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์และการเห็นแก่ประโยชน์สุขของผู้อื่น
2. การใช้กิจกรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจริยธรรมพบว่ามี 32 กิจกรรม โดยอาจใช้หลายกิจกรรมมาร่วมกันและควรเลือกช่วงเวลาให้เหมาะสม
3.มีระบบสนับสนุนในการพัฒนาจริยธรรมควรได้รับความสนใจและสนับสนุนจากผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้บริหารในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป
4. เลือกผู้นำการเปลี่ยนแปลงคือครู ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด โดยพิจารณาจากภูมิหลังที่เป็นผู้มีความสนใจด้านศาสนามาตั้งแต่เด็ก และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานด้านนี้
5. มีระบบติดตามผล ประเมินผล และนำปัญหามาแก้ไข แล้วนำไปปฏิบัติ เช่นนี้เรื่อยไป
6. การสร้างจริยธรรมจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องกันไป เพราะการปลูกฝังด้านจิตใจต้องใช้ความสม่ำเสมอ และเป็นเวลานาน