การพัฒนากระบวนการการออกแบบเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจูดโดยการจัดการของชุมชน กรณีศึกษา : ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Main Article Content

เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี
วิชัย แหวนเพชร
เสรี พงศ์พิศ
ชูศักดิ์ เอกเพชร

Abstract

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ ศึกษาบริบทภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ที่สามารถสนับสนุนศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน  เพื่อพัฒนากระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์กระจูดจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเพื่อประเมินการพัฒนากระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์กระจูด  ใช้ประชากรของตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับการวิจัยโดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบจำเพาะเจาะจงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ ผู้ที่มีส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน  จำนวน 37 คน ได้แก่ ผู้นำชุมชน 20 คน ผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 2 คน และ สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กระจูด 15 คน  โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม จากการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วได้ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้

       1. ตำบลท่าสะท้อนมีศักยภาพเพียงพอสำหรับการพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน กล่าวคือ มีสภาพทั่วไปของท้องถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ มีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์กระจูด มีผู้นำท้องถิ่นที่สามารถสนับสนุนศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากการสนับสนุนงบประมาณ การส่งเสริมและสนับสนุนเป็นอาชีพ โรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่นมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมของท้องถิ่น ในชุมชนมีผู้ผลิตที่มีความสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนอยู่มากแต่ขาดทักษะด้านการออกแบบ มีความพร้อมในการรับการพัฒนาด้านการออกแบบ เพราะมีพื้นฐานในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว

       2. การพัฒนากระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์กระจูด โดยใช้รูปแบบของกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้กับกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พบว่าผู้ผลิตยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการออกแบบ กลุ่มผู้ผลิตมีแนวคิดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ การนำผลิตภัณฑ์กระจูดในรูปแบบเดิมที่เป็นเพียงเสื่อกระจูดไปผสมผสานกับการตกแต่งผลิตภัณฑ์เครื่องเรือน ได้แก่  โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ที่เก่าและชำรุดแต่ยังคงอยู่ในสภาพพอจะสามารถนำกลับมาใช้งานได้ นำมาตกแต่งด้วยลวดลายและเพิ่มสีสันบนแผ่นกระจูดทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่สามารถนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้

       3. การประเมินการพัฒนากระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์กระจูด กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อกระบวนการที่ดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้นำชุมชนในท้องถิ่นและผู้มีศักยภาพในการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะต้นแบบของผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผู้ผลิตได้พัฒนาตามกระบวนการออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นว่ามีความเหมาะสมครบถ้วนทั้ง 4 ด้านคือ ด้านความงาม ด้านประโยชน์ใช้สอย ด้านวัสดุ และด้านการตลาดซึ่งมีความเป็นไปได้สำหรับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนต่อไป

 

Article Details

Section
Articles