การสังเคราะห์การจัดการศึกษาและการพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: ศึกษากรณีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสิงคโปร์แอร์ไลน์สเฉลิมพระเกียรติฯ

Main Article Content

คมพล สุวรรณกูฏ
สุพรรณี ไชยอำพร

Abstract

     บทความนี้เป็นการสังเคราะห์ให้เห็นแนวทางการเสริมสร้าง และการพัฒนาการศึกษาตามแนวพระราชดำริฯ โดยอาศัยข้อมูลข้อค้นพบจากการวิจัย เรื่อง รูปแบบการจัดการศึกษาและการพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: ศึกษากรณีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสิงคโปร์แอร์ไลน์สเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นการศึกษารายกรณี (Case Study) ซึ่งการวิจัยนี้อาศัยการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากเอกสาร การสังเกต และการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ จำนวน 15 คน โดยข้อมูลที่ได้ผู้วิจัยนำมาจำแนกแจกแจงเป็นหมวดหมู่ (Category) ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หลังจากนั้นนำมาวิเคราะห์ตามหลักตรรกะ (Logic) เทียบเคียงแนวคิด ทฤษฎี ควบคู่กับบริบท (Context)

ผลการศึกษา

         1. รูปแบบการจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พบว่า มีลักษณะเป็นระบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของชุมชน คือ 1) อาศัยวัฒนธรรมการบริหารของ ตชด. ที่รุ่นพี่ รุ่นน้องให้เกียรติกัน ผนวกกับการรับฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ส่วนกองทุนโครงการอาหารกลางวัน โรงเรียนอาศัยการบริหารจัดการอย่างเป็นองค์รวมผ่านระบบ สหกรณ์ 2) การจัดหลักสูตร เน้นเนื้อหาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควบคู่กับการใช้หลักสูตรสถานศึกษา (หลักสูตรท้องถิ่น และวิชาสมเด็จย่า) 3) การจัดชั้นเรียน ดำเนินการใน 3 ลักษณะ คือ ห้องเรียนปกติ ห้องเรียนพี่สอนน้อง และกิจกรรมนอกชั้นเรียน 4) การจัดครู จัดให้ครูผู้สอนเลือกสอนตามความสามารถ และความสมัครใจ 5) การจัดการเรียนการสอนจัดตามความรู้ความสามารถเฉพาะของครูผู้สอน และจัดให้มีการนิเทศการเรียนการสอน 6) การประเมินผล ดำเนินงานใน 2 ส่วนควบคู่กัน คือ กิจกรรมตามโครงการพระราชดำริฯ และการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 7) การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนพัฒนาผู้เรียนในห้องเรียน ควบคู่กับการพัฒนากิจกรรมตามโครงการพระราชดำริ 8) การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เรียนและชุมชน  จัดกิจกรรมใน 2 ลักษณะ คือ จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนสามารถนำไปถ่ายโอนความรู้ ใช้ในชีวิตจริงและ/หรือถ่ายทอดให้กับผู้อื่นในชุมชน และจัดให้ชุมชนโดยตรง โดยโรงเรียนทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในชุมชน และ 9) การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน อาศัยลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

       2. การพัฒนาครูตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พบว่า 1) การสรรหาและการคัดเลือกครู มี 2 กรณี คือ ตามความสมัครใจ และโครงการครูคุรุทายาท 2) การรักษาครูนั้น ทางโรงเรียนได้จัดระบบการบริหารให้มีอิสระและยืดหยุ่น และการเน้นสนับสนุนครูผู้สอนให้เจริญก้าวหน้า 3) การพัฒนาครูประจำการ มี 3 ลักษณะ คือ การศึกษาต่อเนื่อง การฝึกอบรมทั้งการอบรมวิชาการประจำปี และการฝึกอบรมตามโครงการพระราชดำริฯ และการนิเทศการจัดการเรียนรู้โดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 4) การสร้างความผูกพันระหว่างครูกับชุมชน มีสูงมากทั้งในบทบาทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ครูผู้ให้ความรู้ และการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน และ 5) การสร้างจิตวิญญาณครูเพื่อพัฒนาการศึกษาตามแนวพระราชดำริฯ  ด้วยกระตุ้นสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ถือเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้ครู ตชด. ร่วมฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ เพื่อเด็กที่ขาดโอกาสการเรียนรู้ และให้สามารถดำรงชีวิตได้ในชุมชน ตามเป้าหมายการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

            ข้อเสนอแนะสำคัญ

    1. การจัดการศึกษาควรเน้นเนื้อหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทชุมชน

     2. เน้นเป้าหมายให้ผู้เรียนพึ่งตนเองได้ในลักษณะ เก่ง ดี มีสุข (ซึ่งประกอบด้วย เก่ง คือ มีทักษะในการดำรงชีวิต และปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมของตน ดี คือ มีคุณธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ สุข คือ สุขภาพแข็งแรง มีความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะด้านอาหาร) อาทิ การจัดโครงการอาหารกลางวัน โดยใช้แนวทางสหกรณ์ และกองทุน ฯ จากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเป็นฐาน

Article Details

Section
Articles