ขนาดการจัดบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ศึกษากรณีบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์

Main Article Content

อรนันท์ กลันทปุระ

Abstract

     การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทใดจะสามารถจัดบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขนาดการจัดบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพเป็นเท่าใด โดยใช้กรณีศึกษาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 30 แห่ง ในจังหวัดนครสวรรค์ที่จัดบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอย การวิจัยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 24 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80 ของกรณีศึกษาทั้งหมด การวิเคราะห์หาประสิทธิภาพและขนาดการจัดบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพใช้ข้อมูลทางการเงินการคลังและการปฏิบัติงานการจัดบริการสาธารณะดังกล่าวเฉพาะในปีงบประมาณ 2548 และนำข้อมูลมาคำนวณหาต้นทุนในการจัดบริการ เพื่อวิเคราะห์หาประสิทธิภาพและขนาดการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยในการประยุกต์ใช้วิธีการของต้นทุนนั้น ผู้วิจัยได้จำแนกต้นทุนตามหน้าที่ในการบริหารกิจการหรือหน่วยงานขององค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น 2 ประเภท คือ ต้นทุนที่เกี่ยวกับการจัดบริการสาธารณะโดยตรงหรือต้นทุนของหน่วยจัดบริการและต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับข้องกับการจัดบริการโดยตรงหรือต้นทุนของหน่วยสนับสนุนการจัดบริการ

    ผลการวิจัย พบว่า เทศบาลนครมีประสิทธิภาพในการจัดบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยมากที่สุด โดยมีต้นทุนต่อปริมาณขยะมูลฝอย เท่ากับ 466.32 บาทต่อตัน และองค์การบริหารส่วนตำบลมีประสิทธิภาพในการจัดบริการดังกล่าวรองลงมา โดยมีต้นทุน เท่ากับ 935.57 บาทต่อตัน

     ในขณะที่เทศบาลเมืองมีประสิทธิภาพในการจัดบริการน้อยที่สุด โดยมีต้นทุน เท่ากับ 1,720.52 บาทต่อตัน และเทศบาลตำบลมีต้นทุนการจัดบริการ 1,331.79 บาทต่อตันในส่วนของขนาดการจัดบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งพิจารณาจากปริมาณขยะมูลฝอย พบว่า โดยภาพรวม ปริมาณขยะมูลฝอยยิ่งมาก ต้นทุนต่อหน่วยของการจัดบริการดังกล่าวยิ่งมีแนวโน้มลดลง โดยมีขนาดการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพหรือประหยัดที่สุด อยู่ที่ปริมาณขยะ 3,001-3,500 ตัน และเมื่อพิจารณาขนาดการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพโดยจำแนกตามประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า เทศบาลเมืองมีขนาดการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพอยู่ที่ปริมาณขยะ 6,001-6,500 ตัน เทศบาลตำบลมีขนาดการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพอยู่ที่ปริมาณขยะ 2,001-2,500 ตัน และองค์การบริหารส่วนตำบลมีขนาดการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพอยู่ที่ปริมาณขยะ 1,501-2,000 ตัน

      จากผลการวิจัยสะท้อนให้เห็นว่า การกระจายอำนาจการจัดบริการด้านการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยดำเนินการจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่าเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล และขนาดการจัดบริการดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีขนาดของปริมาณขยะมูลฝอยที่แตกต่างกันไป

     ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรร่วมมือกันในการจัดบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอย โดยคำนึงถึงขนาดของปริมาณขยะมูลฝอยที่จะทำให้การจัดบริการมีประสิทธิภาพ หรืออาจจะตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นมาใหม่ ให้รับผิดชอบในการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยโดยให้คลอบคลุมหลายพื้นที่และใช้ขนาดการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

Article Details

How to Cite
กลันทปุระ อ. (2012). ขนาดการจัดบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ศึกษากรณีบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์. NIDA Development Journal, 49(3), 221–249. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NDJ/article/view/2906
Section
Articles