ภาวะหนี้สิน ระดับความเครียด ความสุข และบทบาทของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง Debt Stress Happiness and the New Roles of Human Resource Development

Main Article Content

จุฑามาศ แก้วพิจิตร

Abstract

     การศึกษาเรื่อง ภาวะหนี้สิน ระดับความเครียด ความสุข และบทบาทของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะทางการเงิน ตลอดจนระดับของความเครียดและความสุขของพนักงานในองค์กรเอกชน 2) เสนอแนะให้องค์กรตระหนักถึงปัญหาหนี้สินของพนักงานและนำเสนอบทบาทของกลไกของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการจัดการกับปัญหาหนี้สินของพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ

      การศึกษาใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการศึกษาภาคสนาม ด้วยการใช้แบบสอบถามเพื่อสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน รูปแบบการใช้เงินของพนักงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง การศึกษาได้เก็บข้อมูลจากประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,535 คน

       ผลการศึกษาด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายของพนักงาน พบว่าพนักงานร้อยละ 43.0 มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ และมีวิธีการแก้ปัญหาโดยการกู้ยืม และวิธีการแก้ไขปัญหามากกว่า 1 วิธีการ (เช่น จำนำ ใช้บัตรเครดิตกดเงินสดมาใช้ เป็นต้น) และมีพนักงานเพียงร้อยละ 19.3 ที่มีรายรับมากกว่ารายจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จัดการกับเงินที่เหลือ โดยนำไปฝากธนาคารและสหกรณ์ออมทรัพย์

      การศึกษารายจ่าย ซึ่งแบ่งเป็นรายจ่ายด้านที่อยู่อาศัย การเดินทาง และการบันเทิงและการพักผ่อน ผลการศึกษา พบว่ารายจ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ประชากรกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งต้องผ่อนบ้าน ร้อยละ 33.1 ต้องเช่าบ้าน รายจ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง พบว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 21.1 ไม่มีรถและเดินทางมาทำงานโดยรถโดยสารประจำทาง รายจ่ายเกี่ยวกับการบันเทิงและพักผ่อน พบว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไปเที่ยวต่างจังหวัด รองลงมาคือ ดูภาพยนตร์ และไปเที่ยวสถานเริงรมย์ ตามลำดับจากมากไปน้อย

     ประโยชน์จากการศึกษาครั้งนี้ องค์กรอาจใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนารูปแบบและแนวทางดำเนินชีวิตของพนักงานในปัจจุบัน รวมทั้งช่วยค้นหาแนวทางหรือยุทธศาสตร์ในการลดหนี้ของพนักงาน  ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อองค์กร ตัวพนักงานเอง และสหภาพ เพราะถ้าหากพนักงานไม่สามารถจัดการกับรายรับ-รายจ่ายของตนเองได้อย่างสมดุล อาจก่อให้เกิดความเครียดและความกดดัน ซึ่งจะกระทบต่อการทำงาน ดังนั้น นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องมีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนักทรัพยากรมนุษย์จะมีบทบาทที่สำคัญ 4 บทบาท คือ นักสืบ ผู้ช่วยในการวางแผน ผู้ให้คำปรึกษา และที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง

Article Details

Section
Articles