กระบวนการทุนทางสังคม: นวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ในชุมชน Social Capital Process: The Innovation for Care of People Living with HIV/AIDS

Main Article Content

อรทัย ศรีทองธรรม

Abstract

      บทความนี้ต้องการนำเสนอ กระบวนการทุนทางสังคมที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ในชุมชน ประกอบด้วย ระบบคิด วิธีปฏิบัติ และผลลัพธ์ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาปรากฏการณ์ในชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดในภาคอีสานตอนใต้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนิน งานด้านเอดส์ กลุ่มเป้าหมายที่ให้ข้อมูล ประกอบด้วย ตัวแทน กลุ่มองค์กรเครือข่าย ครอบครัวผู้ติดเชื้อเอดส์ คนในชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้รู้ในด้านต่างๆ และผู้ติดเชื้อเอดส์ สังเคราะห์ข้อมูลด้วยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีฐานราก และควบคุมคุณภาพข้อมูลในเรื่องความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความสามารถในการตรวจสอบ และความสามารถในการยืนยันข้อมูล  กระบวนการทุนทางสังคมด้านระบบคิดของชุมชนเกิดจากการมีความเชื่อต่อหลักศาสนา ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ และวิญญาณบรรพบุรุษ อย่างเข้มข้นช่วยหล่อหลอมให้คนในชุมชนเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่ในกรอบจารีต ช่วยเหลือเกื้อกูล ไว้วางใจกัน ให้ความเคารพผู้นำและผู้เฒ่าผู้แก่ ยึดมั่นในความเป็นเครือญาติ การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และความสามัคคีและการมีส่วนร่วม  เป็นทุนทางสังคมที่มีในชุมชน ในขณะที่ชุมชนมองเห็นว่าโรคเอดส์เป็นปัญหาและต้องดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกัน ด้วยการดึงเอาทุนทางสังคมที่ฝังอยู่ในชุมชนมาใช้ในการจัดการปัญหา  ด้วยวิธีปฏิบัติในการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ทั้งระดับชุมชน ระดับกลุ่ม/เครือข่าย และระดับปัจเจก เป็นการดูแลที่เน้นบทบาทผู้ติดเชื้อเป็นและครอบครัว ชุมชน และกลุ่มแกนนำด้านเอดส์ในชุมชน ด้วยการดูแลแบบบูรณาการ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมเศรษฐกิจ ถือเป็นนวัตกรรมการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์ในชุมชน ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้ผู้ติดเชื้อมีความมั่นคงในชีวิตอนาคต สามารถหาเลี้ยงชีพได้ ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างปกติสุข เข้าถึงการรักษา และมีการดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส

Article Details

Section
Articles