รูปแบบการบริหารคุณภาพโดยรวมสำหรับระบบการจัดการความรู้ในชุมชนไทย

Main Article Content

พูลสุข จันทร์เพ็ญ
ประสงค์ ปราณีตพลกรัง
พงศ์ หรดาล
กุสุมา พลาพรหม

Abstract

       การวิจัยนี้มุ่งศึกษาการจัดการความรู้ในชุมชนไทย ซึ่งมีลักษณะของการจัดการเชิงระบบที่จะพัฒนาเข้าได้กับการบริหารคุณภาพโดยรวม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารคุณภาพโดยรวมสำหรับระบบการจัดการความรู้ในชุมชนไทย ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณจากชุมชนไทยตัวอย่าง จำนวน 6 แห่ง คัดเลือกแบบจำเพาะเจาะจง  เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสังเกต สัมภาษณ์เชิงลึก สัมภาษณ์ และสอบถาม จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่ประกอบด้วย ผู้ก่อตั้งหรือผู้นำ จำนวน 6 คน ผู้นำ จำนวน 18 คน กรรมการและสมาชิก จำนวน 115 คน นำผลที่ได้มาพัฒนาข้อกำหนดรูปแบบระบบบริหารคุณภาพโดยรวมสำหรับระบบการจัดการความรู้ในชุมชนไทย เสนอให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นตามเทคนิควิธีวิจัยอนาคตแบบเดลฟาย รวม 3 รอบ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาผลสรุปใช้ การวิเคราะห์เนื้อหา สถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบสหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์เส้นทาง   

        ผลการศึกษาพบว่า  การจัดการความรู้ในชุมชนไทยเกิดขึ้นจากการอาสาของกลุ่มคนที่มีความตระหนักและเห็นความจำเป็นต้องใช้ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน วิธีบริหารเป็นระบบการทำงานแบบเปิดที่มีอัตลักษณ์และพลวัต สามารถประยุกต์เข้าได้กับวิธีการจัดการสมัยใหม่ รูปแบบการบริหารคุณภาพโดยรวมสำหรับระบบการจัดการความรู้ในชุมชนไทยที่พัฒนาขึ้น มีข้อกำหนดการบริหารเป็น 3 มิติ คือ มิติเชิงโครงสร้าง มิติระบบปฏิบัติการ และมิติการวัดและวิเคราะห์ผล แบ่งการจัดการเป็น 6 หมวด ได้แก่ การจัดการทรัพยากร ภาวะการนำ การบริหารความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมความรู้ และการวัดและการวิเคราะห์ มีดัชนีคุณภาพรวม 41 ตัวชี้วัด ผู้เชี่ยวชาญ 28 คนลงความเห็นว่าข้อกำหนดของรูปแบบมีความสอดคล้องสำหรับการจัดการคุณภาพระบบการจัดการความรู้ในชุมชนไทยในระดับมากถึงมากที่สุด

Article Details

Section
Articles