ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจกับการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพของประเทศไทย Economic Crisis and Thailand Medical Hub
Main Article Content
Abstract
ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันทำให้การส่งออกของไทยลดลงมาก หลายฝ่ายเริ่มให้ความสนใจต่อการเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ (Medical Hub) ของประเทศไทยในการสร้างรายได้เพื่อทดแทนรายได้จากการส่งออกของประเทศที่ลดลงไป บทความชิ้นนี้กล่าวถึงความเป็นมา สถานการณ์ แนวโน้ม และผลการดำเนินการของนโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub) ของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบการให้บริการศูนย์กลางด้านสุขภาพในประเทศไทยกับประเทศอื่นที่มีการผลักดันนโยบายนี้ในทวีปเอเชีย ทั้งในด้านสภาพปัญหา อุปสรรค และศักยภาพ
การขยายบริการในรูปของ medical tourism ที่มีการนำคนไข้จากประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมารับบริการทางการแพทย์และสุขภาพในประเทศไทย ไม่ได้เป็นแผนที่โรงพยาบาลเอกชนของไทยมีมาตั้งแต่แรก หากเกิดจากปัญหาที่โรงพยาบาลเหล่านี้ประสบ อันสืบเนื่องมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 โดยในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งประเทศไทยยังคงอยู่ในยุคฟองสบู่นั้น โรงพยาบาลเอกชนของไทยได้มีการลงทุนด้านการก่อสร้างและขยายกิจการอย่างขนานใหญ่ หลังจากภาวะฟองสบู่แตกในปี 2540 โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็ประสบปัญหามีอัตราการครองเตียงที่ต่ำลงมากและมีภาวะเตียงว่างจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลเอกชนที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่ม high-end บางแห่ง (เนื่องจากกลุ่มที่เคยเป็นลูกค้าหลักของโรงพยาบาลมีรายได้ลดลง จึงหันไปรับบริการรักษาพยาบาลที่อื่น) โรงพยาบาลเหล่านี้จึงพยายามปรับตัวโดยการหาลูกค้าจากประเทศที่มีกำลังซื้อสูง (เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลาง) เข้ามาเสริม ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้พยายามผลักดันให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยนอกจากการส่งออกสินค้า (และแรงงาน) ไปต่างประเทศแล้ว กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ยังหันมาสนใจการหารายได้เข้าประเทศจากบริการด้านสาธารณสุข
เนื่องจากตัวจักรที่ผลักดันการขยายตัวของ medical tourism ของไทยคือภาคเอกชน จึงมีพัฒนาการในหลายรูปแบบ (ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นกับความถนัดของสถานพยาบาลที่มีมาแต่เดิม) เช่น มีทั้งการรักษาด้วยเทคโนโลยีมาตรฐานนานาชาติ การรักษาที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของสถานพยาบาล การรักษาด้วยเทคโนโลยีในระดับสูงแต่ยังอยู่ในขั้นทดลอง (เช่น การรักษาด้วย stem cell) และการรักษาด้านที่สามารถรอได้พอสมควร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทันตกรรม) และมีโรงพยาบาลที่เป็นที่นิยมของลูกค้าจากบางประเทศ (เช่น กลุ่มอาหรับ เอเชียใต้ ญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย) วิธีการทำตลาดก็มีความหลากหลาย เช่น บางโรงพยาบาลอาศัยตัวแทนทั้งในประเทศและในต่างประเทศ บางโรงพยาบาลเน้นการทำตลาดด้วยตนเองล้วน ๆ บางโรงพยาบาลอาศัย road show ในต่างประเทศในการหาลูกค้าใหม่ ๆ และในขณะที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือไม่มากนัก (เช่น ช่วยจัดและประสานงานการเดินทางไปจัดนิทรรศการในต่างประเทศ) แต่ก็สนับสนุนและเปิดทางให้ภาคเอกชนดำเนินการได้อย่างเสรีและหลากหลาย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้รวมกันทำให้ประเทศไทยเติบโตขึ้นเป็น medical hub ชั้นแนวหน้าของเอเชีย และสามารถแซงประเทศต้นแบบอย่างสิงคโปร์ (ในด้านจำนวนคนไข้) ได้ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ
แต่ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด การที่มีคนไข้ต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้น (หรืออีกนัยหนึ่ง “ความสำเร็จ” ของ medical hub ของไทย) ย่อมส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลกระทบมีทั้งด้านบวก (เช่น ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต่อรายได้ของแพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข รวมถึงธุรกิจและผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง และอาจรวมถึงทำให้มีการพัฒนามาตรฐานด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น) และด้านลบ (เช่น ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนทรัพยากรด้านบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น ราคาและค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลของคนไทยเพิ่มเร็วขึ้น และอาจเข้าถึงบริการและบุคลากรที่มีคุณภาพได้ยากขึ้น) ภาครัฐขึงควรต้องมีการกำหนดเป้าหมายและมาตรการควบคุมที่คำนึงถึงผลกระทบภายนอก (externality) เพื่อจำกัดผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้