การสร้างตัวแบบการพัฒนากลไกการบูรณาการงานพัฒนาสังคมท้องที่ชนบท The Development of Mechanism to Integrate Social Development Projects: Social Development Statistical Prediction Models in Rural Area
Main Article Content
Abstract
การสร้างตัวแบบการพัฒนากลไกการบูรณาการงานพัฒนาสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อนำตัวแปร(ดัชนีชี้วัด)จากรายงานการศึกษาต้นแบบกลไกการบูรณาการงานพัฒนาสังคมมาสร้างตัวแบบจำลอง และนำตัวแบบจำลองที่ได้ไปใช้พยากรณ์งานบูรณาการด้านสังคม โดยนำเสนอในรูปแบบของระบบสารสนเทศสำหรับใช้ในศูนย์บัญชาการ (war room) ซึ่งจากรายงานการศึกษาต้นแบบกลไกการบูรณาการงานพัฒนาสังคมพบว่าตัวแปรที่มีอิทธิพลต่องานการบูรณาการงานพัฒนาสังคมมีทั้งสิ้น 45 ตัวแปรจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มตัวแปรด้านความต้องการขั้นต่ำ 17 ตัวแปร ตัวแปรด้านความเสี่ยงของการพัฒนา 13 ตัวแปร และตัวแปรด้านศักยภาพสำหรับการพัฒนา 15 ตัวแปร ดังนั้นเพื่อให้ได้เป้าหมายในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะวิจัยจึงทำการสร้างตัวแบบ 3 ตัวแบบจากแต่ละกลุ่มตัวแปรคือ ตัวแบบด้านความต้องการขั้นต่ำ ตัวแบบด้านความเสี่ยงของการพัฒนา และตัวแบบด้านศักยภาพสำหรับการพัฒนา โดยใช้ข้อมูลเป็นรายหมู่บ้านจากแหล่งข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน(จปฐ) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติและแหล่งอื่น ๆ ซึ่งในปี 2548 มีข้อมูลหมู่บ้านทั้งหมดที่รวบรวมได้และนำมาทำการวิเคราะห์มีทั้งสิ้น 69,192 หมู่บ้าน จำแนกเป็นข้อมูลจากภาคเหนือ 15,175 หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30,873 หมู่บ้าน ภาคกลาง 14,911 หมู่บ้าน และ ภาคใต้ 8,233 หมู่บ้าน
ในการสร้างตัวแบบแต่ละตัวแบบ คณะวิจัยได้ทำการตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมเหตุสมผล หลังจากนั้นจึงใช้เทคนิคทางสถิติเพื่อทำการจัดกลุ่มหมู่บ้านโดยจัดเป็นหมู่บ้านที่มีสภาวะทางสังคมดี หมู่บ้านที่มีสภาวะทางสังคมปานกลาง และหมู่บ้านที่มีสภาวะทางสังคมยังไม่ดี ทั้งนี้ให้เป็นไป ตามนัยทางสังคม ตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมศาสตร์
สำหรับการสร้างตัวแบบ คณะวิจัยได้สร้างตัวแบบคณิตศาสตร์ด้วยเทคนิคทางสถิติ และหลังจากได้ตัวแบบแล้ว คณะวิจัยได้ตรวจสอบความแม่นยำของตัวแบบ โดยนำตัวแบบที่ได้ไปทดลองใช้พยากรณ์ข้อมูลรายหมู่บ้านจากแฟ้มข้อมูลที่ใช้สร้างตัวแบบดังกล่าว ซึ่งทราบกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ผลการทดลองปรากฎว่า ตัวแบบความต้องการขั้นต่ำพยากรณ์หมู่บ้านได้ถูกต้อง 94% ตัวแบบความเสี่ยงของการพัฒนา พยากรณ์หมู่บ้านได้ถูกต้อง 97% และ ตัวแบบศักยภาพสำหรับการพัฒนา พยากรณ์หมู่บ้านได้ถูกต้อง 95% ดังนั้นจึงทำให้เชื่อได้ว่าตัวแบบที่สร้างขึ้นจะสามารถนำไปพยากรณ์กลไกบูรณาการงานพัฒนาสังคมได้อย่างสมเหตุสมผล