แรงงานสัมพันธ์เชิงสมานฉันท์ในประเทศไทย Sound Labour Relations in Thailand

Main Article Content

วิชัย โถสุวรรณจินดา

Abstract

     การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงแนวทางสร้างแรงงานสัมพันธ์เชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และเป็นการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย การศึกษานี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualtitative Research) ด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) ซึ่งผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ (Key Informants) ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง 10 กลุ่มๆละ 3 คน รวม 30 คน คือ ลูกจ้างในกิจการที่ไม่มีสหภาพแรงงานที่มิใช่หัวหน้างาน  ลูกจ้างในกิจการที่ไม่มีสหภาพแรงงานที่เป็นหัวหน้างาน     ผู้นำสหภาพแรงงานในระดับบริษัท      ผู้นำสหภาพแรงงานในระดับชาติ   นายจ้างในกิจการที่ไม่มีสหภาพแรงงาน     ผู้นำสภาองค์การนายจ้าง    ผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการไตรภาคี    เจ้าหน้าที่ของรัฐ   และนักวิชาการ

       ผลการศึกษาพบว่าผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มเห็นว่า  แรงงานสัมพันธ์เชิงสมานฉันท์ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง สหภาพแรงงาน และสังคมโดยส่วนรวม แต่การที่ยังไม่เกิดแรงงานเชิงสมานฉันท์ขึ้นในสถานประกอบกิจการก็เพราะนายจ้างและลูกจ้างยังมีความหวาดระแวงกัน เอาเปรียบกัน มองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศัตรู และมีการแย่งชิงผลประโยชน์กันมากกว่าที่จะมาร่วมมือกัน  ผลสรุปจากการศึกษานี้ ก็คือนายจ้างและลูกจ้างต้องสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โดยการยอมรับซึ่งกันและกัน มีการสื่อสารที่ดี   มีความไว้วางใจกัน มีการเปิดเผยข้อมูลต่อกัน   และให้ลูกจ้างเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารงาน  ข้อเสนอแนะก็คือ ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลต้องมีบทบาทร่วมกันสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์เชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โดยนายจ้างต้องยอมรับสหภาพแรงงาน  มีการสื่อสารที่ดีกับลูกจ้าง   ทำให้ลูกจ้างไว้วางใจ   มีการเปิดเผยข้อมูล โดยไม่ซ่อนเร้น   มีการสร้างวัฒนธรรมแห่งความร่วมมือ แก้ไขปัญหาร่วมกัน  และเปิดโอกาสให้ลูกจ้างเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารงาน ส่วนลูกจ้างก็ต้องมีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง  มีตัวแทนลูกจ้างที่มีบทบาทสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนายจ้าง  ทำให้นายจ้างไว้วางใจ และเชื่อถือ มองประโยชน์ร่วมกันและแก้ไขความขัดแย้งแบบชนะ-ชนะ สำหรับรัฐบาลต้องมีบทบาทในการส่งเสริม และมีการเผยแพร่หลักแรงงานสัมพันธ์เชิงสมานฉันท์  รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางแรงงานสัมพันธ์เชิงสมานฉันท์ด้วย

Article Details

Section
Articles