ปัจจัยเชิงสาเหตุต่อพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีของนักบัญชี ในภาคเหนือ ตามรูปแบบทฤษฏีปฏิสัมพันธ์นิยม The Causal Factors Influencing Task Activities Behavior According to Accounting Professional Ethics of Accountants in the Northern Region Tracking Interactionism
Keywords:
จรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี, ทฤษฏีปฏิสัมพันธ์นิยมAbstract
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายในการวิจัยที่สำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรกเพื่อตรวจสอบ ความสอดคล้องของโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุต่อพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ประการที่สองเพื่อศึกษาองค์ประกอบของจิตลักษณะเดิม สถานการณ์ปัจจุบันในการทำงาน จิตลักษณะตามสถานการณ์ และพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี และประการที่สามเพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุต่อพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีของนักบัญชี ในภาคเหนือ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างคือนักบัญชีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการทำบัญชี จำนวน 337 คน รูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยตัวแปรแฝง 4 ตัว และตัวแปรประจักษ์ 15 ตัว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS และโปรแกรม LISREL
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1) โมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุต่อพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี ที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามรูปแบบทฤษฎีปฏิสัมพันธ์นิยม (Endler & Magnusson, 1977) (โดยมีค่า Chi Square เท่ากับ 74.02 ค่า P-Value เท่ากับ .036 ที่องศาอิสระ เท่ากับ 54.0 ค่า RMSEA เท่ากับ .034 ค่า c2/df เท่ากับ 1.37 ค่า GFI เท่ากับ .97 และค่า AGFI เท่ากับ .93)
2) องค์ประกอบของจิตลักษณะเดิมของนักบัญชีทั้ง 5 ตัว สามารถอธิบายความเป็นจิตลักษณะเดิมของนักบัญชี โดยแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์มีน้ำหนักองค์ประกอบมากที่สุด และที่มีน้ำหนักองค์ประกอบรองลงมา ได้แก่ ประสบการณ์ทางสังคม ความเชื่ออำนาจในตน การมุ่งอนาคตควบคุมตนและวิถีชีวิตแบบพุทธ ตามลำดับ
องค์ประกอบของสถานการณ์ปัจจุบันในการทำงานของนักบัญชีทั้ง 2 ตัว สามารถอธิบายความเป็นสถานการณ์ปัจจุบันในการทำงานของนักบัญชี โดยความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับนักบัญชีมีน้ำหนักองค์ประกอบมากกว่าการสนับสนุนจากหน่วยงาน
องค์ประกอบของจิตลักษณะตามสถานการณ์ของนักบัญชีทั้ง 2 ตัว สามารถอธิบายความเป็นจิตลักษณะตามสถานการณ์ของนักบัญชี โดยความเครียดในการทำงานมีน้ำหนักองค์ประกอบมากกว่าทัศนคติต่อการทำงานด้านบัญชี และองค์ประกอบของพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีทั้ง 6 ตัว สามารถอธิบายความเป็นพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีโดยความเที่ยงธรรมมีน้ำหนักองค์ประกอบมากที่สุด นอกจากนั้นที่มีน้ำหนักองค์ประกอบรองลงมาได้แก่ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความรู้ความสามารถในการทำงาน และความเป็นอิสระในการทำงาน ตามลำดับ
3) พฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีขึ้นอยู่กับจิตลักษณะเดิมของ นักบัญชีมากที่สุด รองลงมาคือ สถานการณ์ปัจจุบันในการทำงานของนักบัญชี
จากผลการศึกษาการพัฒนานักบัญชี ผู้วิจัยเสนอแนะรูปแบบให้มีจรรยาบรรณวิชาชีพ ควรมุ่งเน้นจิตลักษณะเดิมของนักบัญชีทั้ง 5 องค์ประกอบ โดยเฉพาะแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์จะเป็นแรงขับเคลื่อนความเพียรพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณ ควรปลุกเร้านักบัญชีให้เป็นคนรู้คิด พิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขดำเนินการโดยการกระทำของตนเอง เน้นให้พบกับความสุขของตนเองจากการมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างมีจรรยาบรรณวิชาชีพ นอกจากนี้ควรมุ่งเน้นสถานการณ์ในการทำงานทั้ง 2 องค์ประกอบ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับนักบัญชี ซึ่งการจะพัฒนานักบัญชีให้มีจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชีจะต้องพัฒนาควบคู่กับหัวหน้าด้วย เพราะทั้งคู่จะเป็นตัวแปรหนุนเนื่องซึ่งกันและกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี