การประมาณการตัวแปรเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ ในเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี ค.ศ.1975-2005

Main Article Content

พีระ ตั้งธรรมรักษ์

Abstract

บทคัดย่อ

งานศึกษาชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายในการประยุกต์ใช้มโนทัศน์ของมาร์กซ์เรื่อง แนวโน้มการลดลงของอัตราผลกำไร เพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในช่วงปี ค.ศ.1975-2005 ผ่านตัวแปรเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ ซึ่งได้แก่ อัตราการขูดรีด องค์ประกอบของมูลค่าของทุน และอัตราผลกำไร การศึกษาเศรษฐกิจไทยภายใต้ทฤษฎีและตัวแปรเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ในอดีตที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหายาก ซึ่งงานศึกษาชิ้นนี้ได้ใช้แบบจำลองของ Wolff (1979) และตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต เป็นฐานข้อมูลหลักในการคำนวณหาตัวแปรเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ.1975-2005 ออกมาในเชิงปริมาณ

ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ พบว่า การเคลื่อนไหวของอัตราผลกำไรถูกกำหนดโดยการเคลื่อนไหวของอัตราการขูดรีดและองค์ประกอบของมูลค่าของทุน โดยอัตราผลกำไรในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975-1995 ยกเว้นในปี 1990 ซึ่งถือว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคของการเติบโตของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในประเทศไทย สำหรับการเพิ่มขึ้นของอัตราผลกำไรมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการขูดรีด โดยอัตราผลกำไรได้เพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่สูงสุดในปี 1995 ก่อนจะลดลง ในปี 2000 เพราะผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 โดยลดลงจนกระทั่งถึงปี 2005 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการศึกษา สำหรับสาเหตุของการลดลงของอัตราผลกำไรมาจากสองปัจจัยสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง การลดลงของอัตราการขูดรีด และ สอง การที่องค์ประกอบมูลค่าของทุนยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น

Article Details

How to Cite
ตั้งธรรมรักษ์ พ. (2013). การประมาณการตัวแปรเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซ์ ในเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี ค.ศ.1975-2005. NIDA Development Journal, 52(3), 1–24. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NDJ/article/view/5155
Section
Articles