ชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการที่ดินตนเอง: บทสะท้อนต่อแนวคิดการพัฒนาความสามารถของมนุษย์
Keywords:
แนวคิดการพัฒนาความสามารถของมนุษย์ การปฏิรูปที่ดิน, การพัฒนาชนบท, ชุมชนที่ยั่งยืน, สระแก้วAbstract
ภายหลังกระแสการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยการกระจายอำนาจในสังคมไทยเมื่อ พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา ได้สร้างความตื่นตัวต่อภาคประชาสังคมในวงกว้าง โดยหนึ่งในสาระสำคัญของการปฏิรูปคือประเด็นที่ดินทำกินในชนบท กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแนวคิดในการจัดการที่ดินด้วยตนเองโดยชุมชนท้องถิ่นซึ่งริเริ่มโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ผู้ศึกษาได้ทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายภาคีองค์กรชุมชนเพื่อแก้ปัญหาที่ดินจังหวัด และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 – เดือนมกราคม พ.ศ. 2556 โดยมีเป้าหมายสามประการ ได้แก่ ประการแรก เพื่อสร้างแผนการจัดการชุมชนอย่างยั่งยืนในระดับตำบล ประการที่สอง เพื่อยกระดับการเชื่อมโยงข้อมูลระดับตำบลสู่ภาพรวมระดับจังหวัดที่บูรณาการข้อมูลพื้นที่ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหา อาทิ ข้อมูลภูมิศาสตร์ ข้อมูลสังคม-เศรษฐกิจ ข้อมูลทรัพยากร ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน และข้อมูลการถือครองที่ดิน และประการที่สาม เพื่อสร้างกลไกการถ่ายทอดเทคนิคและความรู้ให้คนในพื้นที่สามารถดำเนินงานต่อได้โดยลดการพึ่งพิงจากหน่วยงานภายนอก และสามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นโดยสามารถขยายผลการทำงานระดับตำบลครอบคลุม 18 ตำบลในจังหวัดสระแก้ว จนนำไปสู่การยอมรับให้ภาคีเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อแก้ปัญหาที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของกลไกแก้ปัญหาที่ดินในระดับจังหวัดในท้ายที่สุดได้