ความมั่นคงทางอาหาร: สิ่งบ่งชี้ต่างวัฒนธรรมในสังคมไทย
Keywords:
ความมั่นคงทางอาหาร, สิ่งบ่งชี้, สิ่งบ่งชี้ต่างวัฒนธรรม, การเข้าถึงแหล่งอาหารAbstract
งานวิจัยมีเจตนามุ่งนำเสนอใน 3 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ 1) ความหมายของความมั่นคงทางอาหารในทัศนะของชุมชน 2) สิ่งบ่งชี้ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนในมิติสังคมและวัฒนธรรม และ 3) เปรียบเทียบสิ่งบ่งชี้ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นการสัมภาษณ์เจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญจากสองชุมชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม จำนวนรวม 30 คน (ชุมชนละ 15 คน) โดยชุมชนแรกเป็นชุมชนไทยมุสลิม อีกชุมชนเป็นชุมชนไทยพุทธ โดยมีการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์จัดหมวดหมู่ และทำการวิเคราะห์ตีความควบคู่บริบทตามหลักตรรกะ เทียบเคียงแนวคิดทฤษฎี โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาประกอบ
สำหรับผลการศึกษา พบว่า ความหมายของความมั่นคงทางอาหารของในทัศนะของชุมชน หมายถึง การมีระบบการผลิต และ/ หรือ ระบบการสรรหาอาหารที่มีความสมดุลกับการบริโภคที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตความเชื่อและวัฒนธรรมของชุมชน และเมื่อทำการศึกษาถึงสิ่งบ่งชี้ความมั่นคงทางอาหารในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน พบว่า มีการกล่าวถึงสิ่งบ่งชี้ความมั่นคงทางอาหารที่บ่งบอกถึงลักษณะของความมั่นคงทางอาหารของชุมชนด้วยกันทั้งหมด 19 สิ่งบ่งชี้ ด้วยกันคือ 1) ความหลากหลายของประเภทอาหารในแต่ละมื้อ 2) สามารถรับประทานอาหาร/ เข้าถึงแหล่งอาหารได้ทุกเมื่อตามความต้องการ 3) การมีรายได้ที่เพียงพอต่อการซื้ออาหาร 4) การกินอาหารอย่างคุ้มค่าไม่ฟุ่มเฟือย 5) การบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ และสารเคมี 6) การมีร่างกายอิ่มอวบ ผิวพรรณสดใส 7) การไม่มีโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม 8) การมีความรู้เกี่ยวกับหลักโภชนาการของผู้ประกอบอาหาร/ จัดหาอาหารในครอบครัว 9) การมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการอาหารที่เหมาะกับพัฒนาการตามวัยและสุขภาพของคนในครอบครัว 10) การวางแผนในการทำอาหาร/ ประกอบอาหาร 11) สถานภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือน 12) การมีความรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารที่ปลอดภัยต่อระบบนิเวศน์ของชุมชน 13) ความรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารที่ปลอดภัยกับสุขภาพของผู้บริโภค 14) การมีความรู้เกี่ยวกับอาหารดั้งเดิมของชุมชน 15) การมีระบบการผลิต/ สรรหาทรัพยากรอาหารที่สมดุลกับการบริโภคของคนในชุมชน 16) การมีแหล่งผลิตของส่วนรวม /มีพื้นที่ที่ใช้ในการผลิตอาหารของชุมชน 17) การมีแหล่งจัดเก็บอาหารของส่วนรวม 18) การมีระบบการแบ่งปันอาหารในชุมชน และ 19) การมีสหกรณ์กลางเพื่อสวัสดิการทางด้านอาหารของชุมชน
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบสิ่งบ่งชี้ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม พบได้ว่า ทั้งสองชุมชนต่างให้ความสำคัญกับสิ่งบ่งชี้ความมั่นคงทางอาหารที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันซึ่งจะเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องของวิถีทำกิน แต่จะมีประเด็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนอยู่ 5 ประเด็นบ่งชี้ คือ 1) การมีรายได้ที่เพียงพอต่อการซื้ออาหาร (สิ่งบ่งชี้ตัวที่ 3) 2) การกินอาหารอย่างคุ้มค่าไม่ฟุ่มเฟือย (สิ่งบ่งชี้ตัวที่ 4) 3) การบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดสารพิษ และสารเคมี (สิ่งบ่งชี้ตัวที่ 5) 4) การวางแผนในการทำอาหาร/ ประกอบอาหาร (สิ่งบ่งชี้ตัวที่ 10) และ 5) สถานภาพเศรษฐกิจของครัวเรือน (สิ่งบ่งชี้ตัวที่ 11)