การวิเคราะห์ตำรับยาสมุนไพรในคัมภีร์ใบลานอีสาน: กรณีศึกษาคัมภีร์ใบลานของหมอพื้นบ้านพิมพ์ แก้ววิเศษ ผูกที่ 1

Main Article Content

ปิยาภรณ์ แสนศิลา
นรากร เส็งเล็ก
ภคมน ธนทัศกิตติ

บทคัดย่อ

           การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานอีสาน 2. ปริวรรตคัมภีร์ใบลานอีสานเป็นอักษรไทยปัจจุบัน 3. จำแนกตำรับยาสมุนไพรที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานอีสานตามหลักเภสัชกรรมไทย วิธีดำเนินการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการปริวรรตคัมภีร์ใบลานอีสานของหมอพื้นบ้านพิมพ์ แก้ววิเศษ โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอีสานโบราณ และวิเคราะห์ตำรับยาตามหลักการแพทย์แผนไทย คัมภีร์ใบลานอีสานที่ศึกษานี้มีจำนวน 11 ลาน 22 หน้า บันทึกด้วยอักษรธรรมโบราณด้วยภาษาอีสานสั้นๆ ได้ใจความชัดเจน


          ผลการวิจัยพบว่าในคัมภีร์ใบลานนี้มีตำรับที่ใช้บำบัดอาการของโรคและวิธีการบำบัดโรค จำนวน 73 ตำรับ วิธีการปรุงยา 28 วิธี ส่วนมากเป็นตำรับยารักษากลุ่มอาการไข้ที่มีลักษณะผื่นต่างๆ กลุ่มโรคไหลเวียนของเลือดลม กลุ่มโรคระบบทางเดินอาหาร และกลุ่มโรคอื่นๆ ในคัมภีร์ใบลานมีเภสัชวัตถุ 239 ชนิด แบ่งเป็นพืชวัตถุ 221 ชนิด สัตว์วัตถุ 12 ชนิดและธาตุวัตถุ 6 ชนิด และมีการตั้งคายบูชาครู การใช้คาถาในการรักษาผู้ป่วยร่วมด้วย โดยสรุป คัมภีร์ใบลานอีสานแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วย เป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งทางกายและจิตใจ สามารถนำไปใช้ต่อยอดองค์ความรู้และถ่ายทอดให้แก่นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ และยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของหมอยาพื้นบ้านไม่ให้สูญหายต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กฤษฎา ศรีธรรมา, ศรินทร์ ทองธรรมชาติ, และพิษณุ เข็มพิลา. (2552). การสืบค้นภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านอีสานในคัมภีร์ยาใบลาน. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 3(2), 13-20.

คำนาง กาสนิท, ปิยะพร ทรจักร, และภัทราวดี วรวงศ์. (2553). การสำรวจ ปริวรรตและวิเคราะห์ตำรายาพื้นบ้านอีสานจากเอกสารใบลานในเขตพื้นที่ตำบลโคกล่าม อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด (วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาสารคาม.

ทองอ่อน สิทธิไกรพงษ์. (2549). คัมภีร์ยาไข้หมากไม้ภาคอีสาน. ขอนแก่น: คลังนานาธรรม.

พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ. (2556). วิเคราะห์สารนิเทศจากใบจุ้ม. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร.

มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม และโรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์. (2550). ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับอนุรักษ์) เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์.

รัตนา จันทร์เทาว์ และคณะ. (2547). การปริวรรตใบลานอีสาน. กรุงเทพฯ: สำนักงานการศึกษาแห่งชาติ.

ลัดดาวัลย์ ครูปัญญามาตย์. (2559). ตำราเภสัชกรรมไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: อุษาการพิมพ์.