Abbot, George et.al. (2012). The Economics Book. London: Darling and Kindersley Limited. (351pp.)

Authors

  • nattabhol nkhanthachai

Abstract

I


เศรษฐศาสตร์เป็นองค์ความรู้ (Body of Knowledge) ซึ่งว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด (Scarce resources) เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด (Unlimited human wants) (Lipsey and Courant, 1996: 4) หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า เศรษฐศาสตร์ คือการศึกษาว่าด้วยวิธีการที่สังคมจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดของสังคม (Mankiw, 1998: 4)
ในฐานะที่เป็นองค์ความรู้ซึ่งเป็นสาขาวิชาการ (Professional discipline) ในด้านวิทยาศาสตร์สังคม (Social science) วิชาเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วยแนวคิด (Concepts) ศัพท์ทางวิชาการ (Technical terms) ทฤษฎี (Theory) ตัวแบบ (Model) วิธีการในการศึกษา (Methodology) และนำเสนอ (Presentation) ซึ่งสำหรับนักศึกษาโดยทั่วไปต้องใช้ความอุตสาหวิริยะพอควรในการทำความเข้าใจ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ในชีวิตประจำวัน หรือประกอบอาชีพเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นตำราวิชาเศรษฐศาสตร์จึงเป็นตำราที่อ่านด้วยตนเองจะเข้าใจได้ยาก

II


หนังสื่อเรื่อง The Economics Book ซึ่งนำมาแนะนำนี้เรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษ สาระของหนังสือแบ่งตามประวัติศาสตร์ของแนวความคิดและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เป็น 6 ตอน ดังนี้
1. บทนำ (Let the Trading Begin): 400 BCE-1770CE
2. ยุคแห่งเหตุผล (The Age of Reason): 1770-1820
3. การปฏิวัติทางเศรษฐศาสตร์และอุตสาหกรรม (Industrial and Economic Revolution): 1820-1929
4. สงครามและการเสื่อมโทรม (War and Depression): 1929-45
5. เศรษฐศาสตร์หลังสงคราม (Post – war Economics): 1945-70
6. เศรษฐศาสตร์ร่วมสมัย (Contemporary Economics): 1970-ปัจจุบัน
ในแต่ละยุคของพัฒนาการขององค์ความรู้ของเศรษฐศาสตร์ หนังสือ The Economics Book จะบรรยายแนวความคิด และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ บุคคลสำคัญ ผู้เสนอแนวความคิดหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ในยุคแรก ประมาณ 350 BCE (หรือ 350 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) กล่าวถึงแนวคิดของ Aristotle ซึ่งนิยมการให้เอกชนเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (Private Property) ค.ศ. 1397 มีการก่อตั้ง Medici Bank ใน Florence ประเทศอิตาลี่ เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้าระหว่างประเทศ และ ค.ศ. 1689 John Lock เสนอว่าความมั่งคั่งมิได้เกิดจากการค้าแต่จากแรงงาน ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อในยุค Mercantilism โดย Thomas Mun ใน ค.ศ. 1630 เป็นต้น
ในยุคที่สอง (ค.ศ.1770-1820) เริ่มตั้งแต่ David Hume (1770s) ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกีดกันทางการค้า (Trade protectionism) Adam Smith และการตีพิมพ์ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มสำคัญชื่อ An Inquiry into the Wealth of Nations ใน ค.ศ.1776 กฎของตลาดของ Say (Say’s Law of Market) ใน ค.ศ.1803 และทฤษฎีการได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ของ David Ricado ใน ค.ศ.1817 เป็นต้น
ในยุคที่สาม (ค.ศ.1820-1929) กล่าวถึง John Stuart Mill และ การวางรากฐานสำคัญของ เศรษฐศาสตร์เสรีนิยม (Liberal Economics) ใน ค.ศ. 1848 Karl Marx และ Friedrich Engels ตีพิมพ์หนังสือซึ่งถือเป็นคัมภีร์ของ Communism คือ The Communist Manifecto ใน ค.ศ. 1848 Leon Walrus วางพื้นฐานสำคัญของทฤษฎีทั่วไปเกี่ยวกับดุลภาพ (The General Equilibrium Theory) ใน ค.ศ.1874 Alfred Marshall ตีพิมพ์หนังสือ Principles of Economics ใน ค.ศ. 1890 ซึ่งวางพื้นฐานสำหรับการใช้คณิตศาสตร์ในวิชาเศรษฐศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์จุลภาค Vilfredo Pareto เสนอทฤษฎี Pareto Efficiency ใน ค.ศ.1906 และ Joseph Schumpeter กล่าวถึง บทบาทสำคัญของผู้ประกอบการในฐานะผู้คิดค้นนวตกรรม (Innovator) ทำให้อุตสาหกรรม มีความก้าวหน้าใน ค.ศ.1927 เป็นต้น
ในยุคที่สี่ (ค.ศ.1929-1945) เริ่มหลังเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ใน ค.ศ.1929 Lionel Robbins ให้คำจำกัดความของเศรษฐศาสตร์ว่าเป็น The Science of Scarce Resources ใน ค.ศ. 1932 John Maynard Keynes ตีพิมพ์หนังสือ The General Theory of Employment, Interest and Prices ใน ค.ศ.1936 John Kicks เสนอตัวแบบ ISLM ใน ค.ศ. 1937 Simon Kuznets บรรยายถึงวัฏจักรของธุรกิจ (Business Cycles) ในค.ศ. 1940s การทำข้อตกลง Bretton Woods ในค.ศ. 1944 เพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินของประเทศอุตสาหกรรมภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้น
ยุคที่ห้า (ค.ศ.1945-1970) เริ่มหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง และการฟื้นฟูประเทศภายหลังสงคราม เช่น การก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) การเสนอนโยบายทาง การเงิน (Monetarist Policy) ของ Milton Friedman ในช่วง 1950s การจัดตั้ง European Economic Community ใน ค.ศ. 1957 Robert Mudell และ Marcus Fleming อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนกับผลผลิตใน ค.ศ.1962 และใน ค.ศ.1970 Andre Gunder Frank เสนอทฤษฎีการพึ่งพา (Dependency Theory) เป็นต้น
ยุคที่หก หรือยุคร่วมสมัย (ค.ศ.1970-ปัจจุบัน) กล่าวถึงวิชาเศรษฐศาสตร์ข่าวสาร (Information Economics) โดย George AKerlof ใน ค.ศ. 1970 การยกเลิกการผูกพันค่าของเงินเหรียญสหรัฐอเมริกากับราคาทองคำของประธานาธิบดี Richard Nixon ตามคำแนะนำของ Milton Friedman ใน ค.ศ.1971 การวางพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) จากการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Prospect Theory โดย Amos Tversky และ Daniel Kahneman ใน ค.ศ.1979 Alberto Alesina และ Dani Rodrik อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Economic Growth and Inequality ในช่วงปี 2000s Jeffey Sachs เสนอการปลดเปลื้องภาระหนี้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในโลกที่สาม ในค.ศ.2005 และวิกฤตการธนาคารก่อให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลกใน ค.ศ.2008 จากภาวะฟองสบู่แตกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

III


หนังสือ The Economics Book นำเสนอปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุคต่าง ๆ นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในแต่ละยุคทั้งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการนำเสนอทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เป็นการสะสมเพิ่มพูนองค์ความรู้และการประยุกต์ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในแต่ละยุค โดยมีแนวการเขียนซึ่งสามารถอ่านเข้าใจได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้สนใจวิชาเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป ที่มีความประสงค์อยากรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
สำหรับนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ หนังสือ The Economics Book เหมาะสำหรับการอ่าน และการศึกษาค้นคว้าให้เกิดความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่กว้างขวางขึ้น เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์มีแขนงวิชาหลากหลายสาขานักศึกษาที่สนใจสร้างความชำนาญในเศรษฐศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่ง เช่น เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม หรือเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ ก็อาจไม่มีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์พัฒนา (Development Economics) หรือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) เป็นต้น การอ่านหนังสือ The Economics Book ก็จะทำให้ทราบว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ มีสาขาแยกย่อยมากมายรวมทั้งประวัติความเป็นมาของแต่ละสาขาด้วย
Directory ของหนังสือ รวบรวมรายชื่อนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญถึงปัจจุบัน จำแนกตามเวลาแต่ละคน ทำให้ได้ทราบว่านักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญมีใครบ้าง และแต่ละคนมีผลงานสำคัญอะไรบ้าง
Glossary ท้ายหนังสือ อธิบายความหมายของศัพท์และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย สะดวกแก่การค้นคว้าและการทำความเข้าใจศัพท์ แนวคิด และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อย่างกะทัดรัด

 

Downloads

Published

2016-12-30

How to Cite

nkhanthachai, nattabhol. (2016). Abbot, George et.al. (2012). The Economics Book. London: Darling and Kindersley Limited. (351pp.). KASEM BUNDIT JOURNAL, 17(2), 237–240. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jkbu/article/view/73740

Issue

Section

Book reviews