จรัล มโนเพ็ชรกับแผ่นดินล้านนา
Abstract
50 ปีของชีวิต และ 24 ปี (2520-2544) ของการเป็นศิลปินเพื่อชีวิตและสังคม
สิ่งแวดล้อมและปัจจัยภายในนับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการหล่อหลอมและสร้างศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของล้านนาในรอบ 1 ศตวรรษ หนึ่ง พ่อของจรัลเป็นปัญญาชน มีความรู้ดีและอ่านออกเขียนได้ดีทั้งภาษาไทยและภาษาล้านนา มีความรู้ดีด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของล้านนา เคยไปเรียนภาษา อังกฤษ ซึ่งสะท้อนความสนใจในการใฝ่รู้และศึกษาในสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงช่วงทศวรรษ 2490-2500 สอง พ่อสิงห์แก้ว เป็นศิลปิน เล่นเครื่องดนตรีล้านนาเก่งทุกชนิด ร้องเพลงเก่ง แต่งเพลงเก่ง และเก่งในด้านศิลปะการร่ายรำ การวาด การทำอุปกรณ์ตกแต่งโดยเฉพาะการทำโคม แม่ต่อมคำ ณ เชียงใหม่ เก่งเรื่องการเมืองการปกครองของล้านนาและงานหัตถกรรม สาม บรรพชนของแม่ (เจ้าบุรีรัตน์) เป็นสมาชิกชนชั้นปกครองของเมืองเชียงใหม่ ดูแลด้านกฏหมายของเมืองในระยะผ่านจากการยกเลิกฐานะประเทศราชของล้านนา (พ.ศ. 2442) ไปสู่การผนวกล้านนาให้เป็นส่วนหนึ่งของสยามรัฐ สมาชิกของสกุลนี้มีบ้านอยู่รอบๆวัดฟ่อนสร้อย ประตูเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดและแหล่งเรียนรู้ช่วง 20 ปีแรกของจรัล 3 ข้อแรกนี้ส่งผลสำคัญ 4 ด้านให้จรัล คือ 1.ความเป็นปัญญาชน ใฝ่รู้-ใฝ่เรียน 2. ศิลปะด้านดนตรี-เพลงและสิ่งประดิษฐ์ 3. ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ล้านนา และ 4. ความเป็นคนเมือง เป็นคนในเวียง และความภูมิใจในสายเลือด
สี่ จรัลเป็นเด็กเรียนเก่ง เรียนรู้วิชาการได้ดีจากโรงเรียนที่ดี ครูดี เรียนรู้และซึมซับจากด้านที่ดีของพ่อและแม่มาได้ทั้งหมด ห้า สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯเริ่มแต่ปี พ.ศ. 2504 การเข้ามาของโลกตะวันตกโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ดนตรีและเพลงฝรั่ง หก การเติบโตในครอบครัวใหญ่ พ่อมีฐานะปานกลาง จรัลต้องเข้าศึกษาในวิทยาลัยด้านวิชาชีพเพื่อจะมีงานทำโดยเร็ว และ เจ็ด สถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ 2515 จนถึง 2519 จรัลในวัยหนุ่มวัยเรียนได้เห็นทั้งขบวนการนักศึกษาที่สถาบันของตนเอง (วิทยาลัยเทคนิค) ที่ม.ช., วิทยาลัยครูเชียงใหม่, และที่กรุงเทพฯ และนักศึกษาหนีเข้าป่าในปี 2519
จรัลมองเห็นเหตุการณ์รอบๆตัว ความสามารถด้านดนตรีและเพลงทำให้เขาซึมซับวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่คือกีต้าร์และเพลงได้อย่างรวดเร็ว และเบี้องหน้าของเขา คือ 1. งานประจำที่ธนาคาร 2. ความสามารถด้านดนตรี เพลง & ศิลปะ และ 3. ความคิดและความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัย
ปัจจัยภายนอกและภายในทั้ง 7 ข้อผสมผสานกัน วงดนตรีของคนหนุ่มเชียงใหม่คณะแรกเล่นกีต้าร์ตามยุคสมัยและร้องเพลงไทยสากล-ฝรั่ง ในปี 2520 วงดนตรีชุดที่ 2 คือจรัลออกเพลงชุดแรก (น้อยไจยา เสเลเมา ลืมอ้ายแล้วกา คนสึ่งตึง ผักกาดจอ สาวมอเตอร์ไซค์ อุ๊ยคำ ของกิ๋นคนเมือง พี่สาวครับ) ไม่แปลกใจที่เพลงชุดนี้จะได้รับความนิยมอย่างมากมายและยาวนานต่อจากนั้น
เราได้เห็นลักษณะสำคัญ 5 ด้านจากเพลงชุดนี้ คือ 1. ใช้กีต้าร์ตามสมัยนิยม 2. ภาษาท้องถิ่น 3. ความเป็นท้องถิ่น ที่ถูกละเลยและถูกหมิ่นแคลนมายาวนาน 4. ความรู้สึกสะเทือนใจในสภาพสังคม (เพลงอุ๊ยคำ) และการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุและจิตใจ (สาวมอเตอร์ไซค์) 5. ความสนุกสนานและความน่ารักของหลายบทเพลง สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะประทับใจคนฟังในเมืองที่สูญเสียบางสิ่งตั้งแต่ปลายปี 2519 นั่นคือ เสียงเพลงและดนตรีเพื่อชีวิต และนักศึกษาลูกหลานหลายพันคนหลบหนีไปสู่เขตป่าเขา ฯลฯ
จากเพลงคำเมืองและเพลงแนวปรัชญาเพื่อชีวิตและสังคมในชุดนั้นและชุดต่อๆมาที่จรัลตัดสินใจทิ้งงานประจำ และมุ่งสู่การเป็นศิลปินเต็มตัว เพลงชุดต่อๆมาของจรัลก็ยังคงแนวเดิม และมีสีสันมากขึ้นๆ เมื่อเวลาผ่านไป จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
All written articles published on Journal of Social Sciences is its author’s opinion which is not belonged to Social Sciences Faculty, Chiang Mai University or is not in a responsibility of the journal’s editorial committee’s members.