Editorial: Politics of Life in Cultural Spaces: A Festschrift to Shalardchai Ramidhanond
Abstract
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักมานุษยวิทยาไทยรุ่นบุกเบิก หากเป็นเพียงรุ่นสองที่ตามมาจากรุ่นแรก แต่อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็สามารถเปิดพรมแดนความรู้ใหม่ ๆ ให้กับวงการมานุษยวิทยาไทยหลาย ๆ ด้านด้วยกัน ซึ่งสะท้อนประสบการณ์มากมายในชีวิต ที่ล้วนบ่มเพาะความเช้าใจปฏิบัติการในชีวิตจริง มากกว่าการติดอยู่ในกับดักของอุดมการณ์หรือทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดเป็นหลัก เมื่อศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงรอยต่อระหว่างปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษที่ 1970 อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้ซึมซับประสบการณ์ชีวิตและความเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่นั่น ในการต่อต้านสงครามเวียดนาม และเมื่อกลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2516 ก็มีความรู้สึกร่วมกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทย ในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารในเดือนตุลาคม 2516 อีกครั้ง
ประสบการณ์ชีวิตทั้งสองครั้งหนุนเสริมให้ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ หันมาสนใจ “การเมืองของชีวิตในพื้นที่วัฒนธรรม” มากขึ้น แม้จะศึกษามาทางด้านมานุษยวิทยา ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่เมื่อผสมผสานประสบการณ์ชีวิตกับมุมมองทางมานุษยวิทยาเข้าด้วยกัน ได้ช่วยเปลี่ยนให้ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ หันมามองการเมืองของชีวิตวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวของคนระดับล่างในสังคม แทนการยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมหลวงอย่างตายตัวของคนชั้นสูง เพราะแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม ด้วยการเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้างอำนาจจากเบื้องล่างมากกว่า
อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อาจจะถูกจัดให้เป็นนักมานุษยวิทยาชายขอบ ไม่ใช่เพราะอยู่ในฐานะที่สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค แต่เพราะ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ไม่ได้เดินตามเส้นทางของนักวิชาการกระแสหลัก ด้วยการไม่ได้สนใจใยดีกับการแสวงหาตำแหน่งทางวิชาการ หากแต่มุ่งมั่นสอนหนังสือและศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ด้วยมุมมองในเชิงการเมืองของชีวิตวัฒนธรรม ที่มีลักษณะของการเมืองไม่เป็นทางการหรือนอกระบบรัฐ ซึ่งนักวิชาการในปัจจุบันเรียกว่า “การเมืองในชีวิตประจำวัน” (ดู Kerkvliet 2009) อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ จึงสามารถมองลอดความรู้กระแสหลัก เพื่อเสริมสร้างให้มานุษยวิทยามีส่วนผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคม ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง จนอาจกล่าวได้ว่า อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ถือเป็นครูของมานุษยวิทยาปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมคนสำคัญด้วยคนหนึ่ง
จากความสนใจการเมืองของชีวิตวัฒนธรรมและการสร้างอำนาจจากเบื้องล่างนี้เอง อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ จึงเลือกสอนวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาการเมืองตั้งแต่เริ่มแรกเข้ามาเป็นอาจารย์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การเมืองในแง่มุมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเมืองของรัฐเท่านั้น พร้อมทั้งแปลหนังสือเพื่อใช้เป็นตำราประกอบการสอนด้วย เรื่อง “พัฒนาการศาสตร์มาร์กซิสม์ว่าด้วยสังคมวิทยา” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2529) ซึ่งแปลมาจากบทที่ Tom Bottomore เขียนเกี่ยวกับสังคมวิทยา ในหนังสือรวมบทความเรื่อง “Marx : The first hundred years" (David McLellan ed. 1983) ก่อนหน้านั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็ได้ร่วมโครงการวิจัยการเมืองของชาวนายากจนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเชียงใหม่เรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในชนบทภาคเหนือของประเทศไทย” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ วิระดา สมสวัสดิ์ และอานันท์ กาญจนพันธุ์ 2525) และพบว่า ชาวนายากจนในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในชีวิตมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การผลิตแบบทุนนิยมอย่างเข้มข้น จนต้องลุกขึ้นเคลื่อนไหวต่อรองค่าแรงและความมั่นคงในชีวิต จากการต้องพึ่งพาการเช่านาของชาวบ้านและเจ้าของที่ดินที่มีฐานะดี
ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ยังมองลึกลงไปอีกว่า การเมืองของชีวิตวัฒนธรรมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ของอุดมการณ์ด้วย ท่านจึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาวิจัยอุดมการณ์ปฏิบัติการของชาวนา ที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมและความเชื่อ โดยเฉพาะการนับถือผีและการเข้าทรง ดังปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในหนังสือเล่มบุกเบิกเรื่อง “ผีเจ้านาย” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2527) ซึ่งสวนทางกับกระแสนิยมทางวิชาการในขณะนั้น ที่ให้ความสนใจกับการนับถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้านเป็นหลัก เพราะมองว่าคนในสังคมสมัยใหม่จะค่อย ๆ ลดความหลงไหลในความเชื่อต่าง ๆ ลงไป ดังจะเห็นได้ว่า ในบทความของทานาเบ้ (Tanabe Shigeharu ในวารสารฉบับนี้) สนับสนุนความเข้าใจของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ที่ว่า ชาวบ้านยังหลงไหลอยู่ในความเชื่อเกี่ยวกับการเข้าทรงผีเจ้านาย เพราะช่วยให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมสัมผัสใกล้ชิดกับการเผชิญหน้าปัญหาต่าง ๆ ที่ท้าทายพวกเขา จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ เมื่อผู้คนเริ่มมีสำนึกแบบปัจเจกชน จนทำให้ไร้ที่พึ่งมากขึ้น
ในความคิดของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อุดมการณ์ปฏิบัติการของชาวนา จึงไม่ใช่เป็นเพียงการต่อต้านความคิดกระแสหลักเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่เพียงช่วยเชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกับสังคมสมัยใหม่ แต่ยังเชื่อมโยงชีวิตของชาวบ้านกับป่าในฐานะทรัพยากรพื้นฐานของชีวิตด้วย เมื่อ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้หันมาเขียนหนังสือเรื่อง “ป่าไม้สังคมกับการพัฒนาชนบท” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2528) เพื่อโต้แย้งความเข้าใจกระแสหลัก ที่มักปรักปรำชาวบ้านในเขตป่าว่าเป็นผู้ทำลายป่า ทั้ง ๆ ที่ป่าเป็นพื้นที่ชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้าน แต่การทำลายป่านั้นยังเกี่ยวข้องกับสังคมภายนอกที่บุกรุกเข้ามาแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ ในนามของการพัฒนา ซึ่งต่อมา อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้ขยายความผ่านการวิจัยในภาคเหนือตอนล่าง ในโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า” (เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง บก. 2534) โดยพบว่า การบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่านั้นยึดโยงอยู่กับนโยบายของภาครัฐอย่างชัดเจน มากกว่าที่จะกล่าวโทษชาวบ้านฝ่ายเดียว
หลังจากนั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็ได้เข้าร่วมกับโครงการวิจัยขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง เพื่อศึกษาการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้าน ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา เล่ม 2 ป่าชุมชนภาคเหนือ” (เสน่ห์ จามริกและยศ สันตสมบัติ บก. 2536. กรุงเทพฯ : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา) และพบว่า ป่าชุมชนก็ถือว่าเป็นป่าไม้สังคมด้วย ในมิติที่ว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการป่าในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะ จนช่วยให้เกิดความเข้าใจแนวคิดเรื่อง สิทธิชุมชน ซึ่งหมายถึงสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรร่วมกัน จากข้อค้นพบในงานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งหลายชุมชนได้แสดงบทบาทดังกล่าวอยู่แล้ว จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคม ในการรณรงค์ให้ออกกฎหมายป่าชุมชน เพื่อรับรองสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการป่าให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการป่า ซึ่งจะยิ่งเสริมความเข้มแข็งให้กับการจัดการป่าอนุรักษ์มากขึ้น บทความของอานันท์ กาญจนพันธุ์ (ในวารสารฉบับนี้) ได้ช่วยขยายความและฉายภาพเบื้องหลังการวิจัยและการเคลื่อนไหวดังกล่าวให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
บทความในวารสารเล่มนี้อีกชิ้นหนึ่งได้สานต่อความคิดของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ในประเด็นของสิทธิชุมชน ซึ่งภาคชุมชนและประชาสังคมพยายามนำมาปรับใช้เพื่อผลักดันการออกโฉนดชุมชน แทนการออกเฉพาะโฉนดแบบเดิมที่ตั้งอยู่บนแนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากบทความของ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว การเปิดใจยอมรับสิทธิชุมชนและสิทธิทางวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสังคม ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ความรู้ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสามารถเสริมซึ่งกันและกันในการดูแลทรัพยากรที่แตกต่างกัน
บทความของ นฤมล อรุโณทัย ได้สานต่อและขยายความคิดดังกล่าวจากกรณีในภาคเหนือ ด้วยการหันไปถกเถียงกรณีของชุมชนชาวเลในภาคใต้ ที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ขณะที่บทความของ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้หยิบยกประเด็นการเมืองของความรู้ขึ้นมายืนยันเพิ่มเติม ในกรณีของชุมชนตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคอีสาน ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากน้ำ ผ่านงานวิจัยไทบ้านเพื่อพิสูจน์ว่า พวกเขามีความรู้อีกชุดหนึ่งที่แตกต่างจากความรู้กระแสหลัก แต่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของคนและระบบนิเวศ ซึ่งคล้ายคลึงกันระหว่างคนทั้งในลุ่มน้ำและชายฝั่งทะเล
ในช่วงหลัง อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้หันมาสนใจประเด็นสตรีศึกษาและเพศภาวะเพิ่มเติม เริ่มต้นจากการร่วมวิจัยผู้หญิงชาวไท ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “ไท” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ วิระดา สมสวัสดิ์ และเรณู วิชาศิลป์ บก. 2541) ต่อมาก็เขียนเอกสารประกอบการสอนสตรีศึกษาอีกหลายชิ้น บทความอีกชิ้นหนึ่งในวารสารเล่มนี้ของ ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ ได้พยายามเชื่อมโยงการศึกษาของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เกี่ยวกับป่าชุมชนและสตรีศึกษา ด้วยการชี้ให้เห็นว่า การศึกษาการเคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมจัดการป่าชุมชนนั้นมักจะเน้นการต่อต้านวาทกรรมป่าของรัฐเป็นส่วนหลัก แต่ยังไม่ได้สนใจบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะเท่าที่ควร เพราะการยึดติดอยู่กับมายาคติที่ว่าผู้หญิงไม่สนใจการเมือง ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงก็มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน
บทความต่าง ๆ ที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น เริ่มมาจากการนำเสนอในการสัมมนาเพื่อชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ที่มีต่อวงวิชาการและการเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านต่าง ๆ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 แต่ในวารสารฉบับนี้ยังมีอีกหนึ่งบทความ ที่นำมาเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งน่าจะช่วยเชื่อมโยงความคิดของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ไปในอนาคตข้างหน้าได้เป็นอย่างดีอีกประเด็นหนึ่ง บทความแรกของนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ได้ถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับ “เควียร์ศึกษาในสังคมไทย มองผ่านข้อถกเถียงจากตะวันตก” ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ในใจของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เช่นเดียวกัน
บทความต่าง ๆ ในวารสารฉบับนี้จึงช่วยยืนยันได้อย่างดี ถึงคุณูปการของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ทั้งในเชิงวิชาการและการร่วมเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งถือเป็นต้นแบบของมานุษยวิทยาปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพราะ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ สามารถเชื่อมโยงความคิดและข้อค้นพบต่าง ๆ จากการวิจัยได้อย่างมีพลัง ต่อพลวัตของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยมุมมอง “การเมืองของชีวิตในพื้นที่วัฒนธรรม” เริ่มจากการหันเหความสนใจจากมานุษยวิทยากระแสหลักมามองอำนาจจากเบื้องล่าง ที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมและความเชื่อของชาวบ้าน จนมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชน ในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร ซึ่งนักวิชาการรุ่นต่อ ๆ มาได้พยายามสานต่อความคิดดังกล่าว และพบว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้กับชุมชนอย่างหลากหลาย แม้จะอยู่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน ทั้งป่าในพื้นที่สูง พื้นที่ลุ่มน้ำ และพื้นที่ชายฝั่งทะเล ก็ตาม
ในท้ายที่สุด อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ มักจะยืนยันถึงความสำคัญของมิติต่าง ๆ จากสตรีศึกษาและพยายามจะเตือนสติอยู่เสมอว่า การเคลื่อนไหวทั้งหลายข้างต้นนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น หากจะต้องมีผู้หญิงร่วมอยู่ในทุกพื้นที่ด้วย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันสังคมและชุมชนวิชาการต่าง ๆ มักติดอยู่ในกับดักของมุมมองที่ไร้มิติของผู้หญิงและเพศสภาวะอย่างเหนียวแน่น จนกลายเป็นช่องว่างของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตย ที่ยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่เช่นในขณะนี้
References
เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง บก. 2534. วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ฉลาดชาย รมิตานนท์. 2527. ผีเจ้านาย. เชียงใหม่: โครงการตำรามหาวิทยาลัย สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ฉลาดชาย รมิตานนท์. 2528. ป่าไม้สังคมกับการพัฒนาชนบท. กรุงเทพ ฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
ฉลาดชาย รมิตานนท์. 2529. พัฒนาการศาสตร์มาร์กซิสม์ว่าด้วยสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ฉลาดชาย รมิตานนท์, วิระดา สมสวัสดิ์, และอานันท์ กาญจนพันธุ์ 2525. รายงานวิจัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในชนบทภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่: ม.ป.พ.
ฉลาดชาย รมิตานนท์, วิระดา สมสวัสดิ์, และเรณู วิชาศิลป์, บก. 2541. ไท. เชียงใหม่: ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ฉลาดชาย รมิตานนท์, อานันท์ กาญจนพันธุ์, และวิระดา สมสวัสดิ์. 2526. “การมีส่วนร่วมของประชาชน: เงื่อนไขปฏิกิริยาและอนาคต.” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง 2 (4): 67-95.
ฉลาดชาย รมิตานนท์, อานันท์ กาญจนพันธุ์, และสัณฐิตา กาญจนพันธุ์. 2536. ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา เล่ม 2 ป่าชุมชนภาคเหนือ. บรรณาธิการโดย เสน่ห์ จามริก และยศ สันตสมบัติ. กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.
เบญจพรรณ เอกะสิงห์, ฉลาดชาย รมิตานนท์, และเบญจวรรณ ทองศิริ. 2540. วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า: ภาคเหนือตอนล่าง. เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Bottomore, Tom. 1983. “Sociology.” In Marx: The First Hundred Years, edited by David McLellan. New York: St. Martin’s Press.
Kerkvliet, Benedict J. Tria. 2009. “Everyday politics in peasant societies (and ours).” The Journal of Peasant Studies 36 (1): 227-243
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
Copyright (c) 2023 Journal of Social Sciences, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
All written articles published on Journal of Social Sciences is its author’s opinion which is not belonged to Social Sciences Faculty, Chiang Mai University or is not in a responsibility of the journal’s editorial committee’s members.