Vol. 35 No. 2 (2023): Politics of Life in Cultural Spaces: A Festschrift to Shalardchai Ramidhanond
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักมานุษยวิทยาไทยรุ่นบุกเบิก หากเป็นเพียงรุ่นสองที่ตามมาจากรุ่นแรก แต่อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็สามารถเปิดพรมแดนความรู้ใหม่ ๆ ให้กับวงการมานุษยวิทยาไทยหลาย ๆ ด้านด้วยกัน ซึ่งสะท้อนประสบการณ์มากมายในชีวิต ที่ล้วนบ่มเพาะความเช้าใจปฏิบัติการในชีวิตจริง มากกว่าการติดอยู่ในกับดักของอุดมการณ์หรือทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดเป็นหลัก เมื่อศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงรอยต่อระหว่างปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษที่ 1970 อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้ซึมซับประสบการณ์ชีวิตและความเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่นั่น ในการต่อต้านสงครามเวียดนาม และเมื่อกลับมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2516 ก็มีความรู้สึกร่วมกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทย ในการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารในเดือนตุลาคม 2516 อีกครั้ง
ประสบการณ์ชีวิตทั้งสองครั้งหนุนเสริมให้ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ หันมาสนใจ “การเมืองของชีวิตในพื้นที่วัฒนธรรม” มากขึ้น แม้จะศึกษามาทางด้านมานุษยวิทยา ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่เมื่อผสมผสานประสบการณ์ชีวิตกับมุมมองทางมานุษยวิทยาเข้าด้วยกัน ได้ช่วยเปลี่ยนให้ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ หันมามองการเมืองของชีวิตวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวของคนระดับล่างในสังคม แทนการยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมหลวงอย่างตายตัวของคนชั้นสูง เพราะแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม ด้วยการเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้างอำนาจจากเบื้องล่างมากกว่า
อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อาจจะถูกจัดให้เป็นนักมานุษยวิทยาชายขอบ ไม่ใช่เพราะอยู่ในฐานะที่สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค แต่เพราะ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ไม่ได้เดินตามเส้นทางของนักวิชาการกระแสหลัก ด้วยการไม่ได้สนใจใยดีกับการแสวงหาตำแหน่งทางวิชาการ หากแต่มุ่งมั่นสอนหนังสือและศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ด้วยมุมมองในเชิงการเมืองของชีวิตวัฒนธรรม ที่มีลักษณะของการเมืองไม่เป็นทางการหรือนอกระบบรัฐ ซึ่งนักวิชาการในปัจจุบันเรียกว่า “การเมืองในชีวิตประจำวัน” (ดู Kerkvliet 2009) อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ จึงสามารถมองลอดความรู้กระแสหลัก เพื่อเสริมสร้างให้มานุษยวิทยามีส่วนผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคม ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง จนอาจกล่าวได้ว่า อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ถือเป็นครูของมานุษยวิทยาปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมคนสำคัญด้วยคนหนึ่ง
จากความสนใจการเมืองของชีวิตวัฒนธรรมและการสร้างอำนาจจากเบื้องล่างนี้เอง อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ จึงเลือกสอนวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาการเมืองตั้งแต่เริ่มแรกเข้ามาเป็นอาจารย์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การเมืองในแง่มุมอื่น ๆ นอกเหนือจากการเมืองของรัฐเท่านั้น พร้อมทั้งแปลหนังสือเพื่อใช้เป็นตำราประกอบการสอนด้วย เรื่อง “พัฒนาการศาสตร์มาร์กซิสม์ว่าด้วยสังคมวิทยา” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2529) ซึ่งแปลมาจากบทที่ Tom Bottomore เขียนเกี่ยวกับสังคมวิทยา ในหนังสือรวมบทความเรื่อง “Marx : The first hundred years" (David McLellan ed. 1983) ก่อนหน้านั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็ได้ร่วมโครงการวิจัยการเมืองของชาวนายากจนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเชียงใหม่เรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในชนบทภาคเหนือของประเทศไทย” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ วิระดา สมสวัสดิ์ และอานันท์ กาญจนพันธุ์ 2525) และพบว่า ชาวนายากจนในช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในชีวิตมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การผลิตแบบทุนนิยมอย่างเข้มข้น จนต้องลุกขึ้นเคลื่อนไหวต่อรองค่าแรงและความมั่นคงในชีวิต จากการต้องพึ่งพาการเช่านาของชาวบ้านและเจ้าของที่ดินที่มีฐานะดี
ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ยังมองลึกลงไปอีกว่า การเมืองของชีวิตวัฒนธรรมนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ของอุดมการณ์ด้วย ท่านจึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาวิจัยอุดมการณ์ปฏิบัติการของชาวนา ที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมและความเชื่อ โดยเฉพาะการนับถือผีและการเข้าทรง ดังปรากฏอยู่อย่างชัดเจนในหนังสือเล่มบุกเบิกเรื่อง “ผีเจ้านาย” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2527) ซึ่งสวนทางกับกระแสนิยมทางวิชาการในขณะนั้น ที่ให้ความสนใจกับการนับถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้านเป็นหลัก เพราะมองว่าคนในสังคมสมัยใหม่จะค่อย ๆ ลดความหลงไหลในความเชื่อต่าง ๆ ลงไป ดังจะเห็นได้ว่า ในบทความของทานาเบ้ (Tanabe Shigeharu ในวารสารฉบับนี้) สนับสนุนความเข้าใจของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ที่ว่า ชาวบ้านยังหลงไหลอยู่ในความเชื่อเกี่ยวกับการเข้าทรงผีเจ้านาย เพราะช่วยให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมสัมผัสใกล้ชิดกับการเผชิญหน้าปัญหาต่าง ๆ ที่ท้าทายพวกเขา จากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ เมื่อผู้คนเริ่มมีสำนึกแบบปัจเจกชน จนทำให้ไร้ที่พึ่งมากขึ้น
ในความคิดของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ อุดมการณ์ปฏิบัติการของชาวนา จึงไม่ใช่เป็นเพียงการต่อต้านความคิดกระแสหลักเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่เพียงช่วยเชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกับสังคมสมัยใหม่ แต่ยังเชื่อมโยงชีวิตของชาวบ้านกับป่าในฐานะทรัพยากรพื้นฐานของชีวิตด้วย เมื่อ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้หันมาเขียนหนังสือเรื่อง “ป่าไม้สังคมกับการพัฒนาชนบท” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ 2528) เพื่อโต้แย้งความเข้าใจกระแสหลัก ที่มักปรักปรำชาวบ้านในเขตป่าว่าเป็นผู้ทำลายป่า ทั้ง ๆ ที่ป่าเป็นพื้นที่ชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้าน แต่การทำลายป่านั้นยังเกี่ยวข้องกับสังคมภายนอกที่บุกรุกเข้ามาแสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ ในนามของการพัฒนา ซึ่งต่อมา อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้ขยายความผ่านการวิจัยในภาคเหนือตอนล่าง ในโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า” (เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง บก. 2534) โดยพบว่า การบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่านั้นยึดโยงอยู่กับนโยบายของภาครัฐอย่างชัดเจน มากกว่าที่จะกล่าวโทษชาวบ้านฝ่ายเดียว
หลังจากนั้น อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ก็ได้เข้าร่วมกับโครงการวิจัยขนาดใหญ่อีกโครงการหนึ่ง เพื่อศึกษาการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้าน ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “ป่าชุมชนในประเทศไทย: แนวทางการพัฒนา เล่ม 2 ป่าชุมชนภาคเหนือ” (เสน่ห์ จามริกและยศ สันตสมบัติ บก. 2536. กรุงเทพฯ : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา) และพบว่า ป่าชุมชนก็ถือว่าเป็นป่าไม้สังคมด้วย ในมิติที่ว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการป่าในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะ จนช่วยให้เกิดความเข้าใจแนวคิดเรื่อง สิทธิชุมชน ซึ่งหมายถึงสิทธิของชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรร่วมกัน จากข้อค้นพบในงานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งหลายชุมชนได้แสดงบทบาทดังกล่าวอยู่แล้ว จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคม ในการรณรงค์ให้ออกกฎหมายป่าชุมชน เพื่อรับรองสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการป่าให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการจัดการป่า ซึ่งจะยิ่งเสริมความเข้มแข็งให้กับการจัดการป่าอนุรักษ์มากขึ้น บทความของอานันท์ กาญจนพันธุ์ (ในวารสารฉบับนี้) ได้ช่วยขยายความและฉายภาพเบื้องหลังการวิจัยและการเคลื่อนไหวดังกล่าวให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
บทความในวารสารเล่มนี้อีกชิ้นหนึ่งได้สานต่อความคิดของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ในประเด็นของสิทธิชุมชน ซึ่งภาคชุมชนและประชาสังคมพยายามนำมาปรับใช้เพื่อผลักดันการออกโฉนดชุมชน แทนการออกเฉพาะโฉนดแบบเดิมที่ตั้งอยู่บนแนวคิดสิทธิของปัจเจกบุคคลเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากบทความของ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว การเปิดใจยอมรับสิทธิชุมชนและสิทธิทางวัฒนธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในสังคม ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ความรู้ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสามารถเสริมซึ่งกันและกันในการดูแลทรัพยากรที่แตกต่างกัน
บทความของ นฤมล อรุโณทัย ได้สานต่อและขยายความคิดดังกล่าวจากกรณีในภาคเหนือ ด้วยการหันไปถกเถียงกรณีของชุมชนชาวเลในภาคใต้ ที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ขณะที่บทความของ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ได้หยิบยกประเด็นการเมืองของความรู้ขึ้นมายืนยันเพิ่มเติม ในกรณีของชุมชนตามลุ่มน้ำต่าง ๆ ในภาคอีสาน ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากน้ำ ผ่านงานวิจัยไทบ้านเพื่อพิสูจน์ว่า พวกเขามีความรู้อีกชุดหนึ่งที่แตกต่างจากความรู้กระแสหลัก แต่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของคนและระบบนิเวศ ซึ่งคล้ายคลึงกันระหว่างคนทั้งในลุ่มน้ำและชายฝั่งทะเล
ในช่วงหลัง อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ได้หันมาสนใจประเด็นสตรีศึกษาและเพศภาวะเพิ่มเติม เริ่มต้นจากการร่วมวิจัยผู้หญิงชาวไท ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่อง “ไท” (ฉลาดชาย รมิตานนท์ วิระดา สมสวัสดิ์ และเรณู วิชาศิลป์ บก. 2541) ต่อมาก็เขียนเอกสารประกอบการสอนสตรีศึกษาอีกหลายชิ้น บทความอีกชิ้นหนึ่งในวารสารเล่มนี้ของ ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ ได้พยายามเชื่อมโยงการศึกษาของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เกี่ยวกับป่าชุมชนและสตรีศึกษา ด้วยการชี้ให้เห็นว่า การศึกษาการเคลื่อนไหวเพื่อการมีส่วนร่วมจัดการป่าชุมชนนั้นมักจะเน้นการต่อต้านวาทกรรมป่าของรัฐเป็นส่วนหลัก แต่ยังไม่ได้สนใจบทบาทของผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะเท่าที่ควร เพราะการยึดติดอยู่กับมายาคติที่ว่าผู้หญิงไม่สนใจการเมือง ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงก็มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน
บทความต่าง ๆ ที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น เริ่มมาจากการนำเสนอในการสัมมนาเพื่อชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ที่มีต่อวงวิชาการและการเคลื่อนไหวทางสังคมในด้านต่าง ๆ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 แต่ในวารสารฉบับนี้ยังมีอีกหนึ่งบทความ ที่นำมาเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งน่าจะช่วยเชื่อมโยงความคิดของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ไปในอนาคตข้างหน้าได้เป็นอย่างดีอีกประเด็นหนึ่ง บทความแรกของนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ได้ถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับ “เควียร์ศึกษาในสังคมไทย มองผ่านข้อถกเถียงจากตะวันตก” ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ในใจของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ เช่นเดียวกัน
บทความต่าง ๆ ในวารสารฉบับนี้จึงช่วยยืนยันได้อย่างดี ถึงคุณูปการของ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ทั้งในเชิงวิชาการและการร่วมเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งถือเป็นต้นแบบของมานุษยวิทยาปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพราะ อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ สามารถเชื่อมโยงความคิดและข้อค้นพบต่าง ๆ จากการวิจัยได้อย่างมีพลัง ต่อพลวัตของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยมุมมอง “การเมืองของชีวิตในพื้นที่วัฒนธรรม” เริ่มจากการหันเหความสนใจจากมานุษยวิทยากระแสหลักมามองอำนาจจากเบื้องล่าง ที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมและความเชื่อของชาวบ้าน จนมีส่วนช่วยเสริมศักยภาพให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชน ในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร ซึ่งนักวิชาการรุ่นต่อ ๆ มาได้พยายามสานต่อความคิดดังกล่าว และพบว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้กับชุมชนอย่างหลากหลาย แม้จะอยู่ในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน ทั้งป่าในพื้นที่สูง พื้นที่ลุ่มน้ำ และพื้นที่ชายฝั่งทะเล ก็ตาม
ในท้ายที่สุด อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ มักจะยืนยันถึงความสำคัญของมิติต่าง ๆ จากสตรีศึกษาและพยายามจะเตือนสติอยู่เสมอว่า การเคลื่อนไหวทั้งหลายข้างต้นนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ของผู้ชายเท่านั้น หากจะต้องมีผู้หญิงร่วมอยู่ในทุกพื้นที่ด้วย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันสังคมและชุมชนวิชาการต่าง ๆ มักติดอยู่ในกับดักของมุมมองที่ไร้มิติของผู้หญิงและเพศสภาวะอย่างเหนียวแน่น จนกลายเป็นช่องว่างของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตย ที่ยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่เช่นในขณะนี้