จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการใน วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความตั้งใจที่จะธำรงมาตรฐานทางจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงาน เพื่อบรรลุปณิธานนี้ ผู้เกี่ยวข้องกับวารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้นิพนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ บรรณาธิการ ตลอดจนบรรณาธิการประจำฉบับ บุคคลผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องยึดมั่นทำตามหลักการ บทบาท หน้าที่ และจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานอย่างเข้มงวดทุกประการ

บทบาท หน้าที่ และจริยธรรมของผู้นิพนธ์

  1. ผลงานของผู้นิพนธ์ซึ่งจัดส่งมาให้วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น จะต้องเป็นผลงานที่ได้ประพันธ์ขึ้นมาใหม่และเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน
  2. ผู้ประพันธ์จะต้องไม่นำผลงานของตนไปตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในแหล่งอื่นๆ หลังจากที่ผลงานของผู้ประพันธ์ได้รับการตีพิมพ์กับ วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. ผู้นิพนธ์ต้องไม่ดัดแปลงหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่น เพื่อนำมาเป็นผลงานของตนเอง และหากมีการกล่าวถึงหรือนำเสนอหรืออ้างอิงผลงานของผู้อื่นลงในเนื้อหาบทความของตน ผู้ประพันธ์ต้องทำการอ้างอิงทุกครั้ง
  4. ชื่อผู้ประพันธ์ที่ปรากฏอยู่ในบทความจะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการประพันธ์ผลงานชิ้นนั้น ๆ จริง
  5. ผู้ประพันธ์ต้องเปิดเผยแหล่งทุน ที่ให้การสนับสนุนจัดทำผลงานที่ตีพิมพ์กับ วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทบาท หน้าที่ และจริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพทางวิชาการของบทความเป็นหลัก ผู้ทรงคุณวุฒิต้องพิจารณาบทความด้วยหลักการและเหตุผลทางวิชาการอย่างปราศจากอคติหรือทัศนะเห็นส่วนตัวโดยเคร่งคัด ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ประพันธ์ใด ๆ ในทุกกรณี
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องตระหนักว่าตนมีความรู้และความเข้าใจในเนื้อหาของผลงานที่ตนตอบรับประเมิน
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่กระทำการใด ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้เป็นผู้พิจารณาประเมิน
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องแจ้งให้บรรณาธิการรับทราบโดยทันที ในกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้ตรวจสอบพบว่าบทความที่ตนรับประเมินอยู่นั้น เป็นบทความที่คัดลอกมาจากผลงานชิ้นอื่น ๆ หรือเป็นบทความที่คัดลอกาจากผลงานที่ผู้ประพันธ์บทความนั้น ๆ ได้เคยตีพิมพ์ในที่อื่นมาแล้ว
  5. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ของบทความให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้โดยเด็ดขาด
  6. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องประเมินผลงานตามกรอบระยะเวลาประเมินที่วารสารกำหนด

บทบาท หน้าที่ และจริยธรรมของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการทำการตัดสินใจที่จะยอมรับหรือปฏิเสธบทความวิจัยสำหรับการตีพิมพ์ใน วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีหลักเกณฑ์อันขึ้นอยู่ความเกี่ยวข้องกับขอบเขตเนื้อหาของวารสาร ตลอดจนหลักเกณฑ์ด้านความสำคัญต่อสังคมและวงวิชาการ ความใหม่ขององค์ความรู้ และความชัดเจนของบทความวิจัย
  2. บรรณาธิการต้องใช้หลักเหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้งอย่างปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้นิพนธ์ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นชาติ ชาติพันธุ์ เพศ เพศสภาพ การศึกษา ชนชั้น อายุ ศาสนา วัฒนธรรม ความคิดทางการการเมือง ตลอดจนสังกัดของผู้ประพันธ์บทความ
  3. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ประพันธ์บทความหรือผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ บรรณาธิการต้องไม่นำบทความหรือส่วนใดของวารสารไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจหรือนำไปใช้เป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
  4. บรรณาธิการต้องไม่เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเนื้อหาบทความ ตลอดจนผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ บรรณาธิการต้องไม่กีดกั้น บิดเบือน หรือแทรกแซงข้อมูลซึ่งมีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ประพันธ์
  5. บรรณาธิการต้องทำตามขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัดในทุก ๆ ขั้นตอน
  6. บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานทางวิชาการและจริยธรรมของวารสาร บรรณาธิการต้องบริหารงานและพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพเป็นสากลและมีเนื้อหาที่ก้าวทันยุคสมัย
  7. บรรณาธิการต้องพร้อมและเต็มใจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดการตีพิมพ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อสร้างความกระจ่างและคงไว้ซึ่งมาตรฐานทางวิชาการและทางจริยธรรม บรรณาธิการต้องพร้อมและเต็มใจที่จะให้มีการถอด-ถอนบทความ และการขออภัย ในกรณีที่มีความจำเป็น