นโยบายการพัฒนาแบบระบบเศรษฐกิจการตลาดตามแนวทางสังคมนิยมของเวียดนาม
คำสำคัญ:
นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจการตลาดแบบสังคมนิยม, เวียตนามบทคัดย่อ
หลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนาม เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมประเทศในชื่อ “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1976 บทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม (Communist Party of Vietnam)กับรัฐบาลมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น โดยมีโครงสร้างทางการเมืองในระบอบสังคมนิยม โดยในช่วงหลังการรวมประเทศในปี ค.ศ.1975 – 1985 รัฐบาลเวียดนามต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ จนกระทั่งถึงการประชุมครั้งที่ 6 ในปี ค.ศ.1986 เวียดนามจึงได้เจริญรอยตามนโยบายกลาสนอสด์และเปเรสตรอยก้าของสหภาพโซเวียตโดยพรรคตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างขนานใหญ่ที่เรียกว่า“โด๋ยเม้ย (Doi Moi)” จากการดำเนินนโยบายโด๋ยเม้ยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ ค.ศ.1986 จวบจนปัจจุบัน ได้สะท้อนให้เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามมีบทบาทในควบคุมการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างมากและที่สำคัญคือเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อมั่นว่า ระบบเศรษฐกิจการตลาดตามแนวทางสังคมนิยม หรือการประยุกต์ใช้แนวคิดแบบทุนนิยมภายใต้โครงสร้างทางการเมืองแบบสังคมนิยมนั้นสามารถนำพาเวียดนามก้าวไปสู่ความเป็นประเทศที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้