การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้แต่ง

  • พิมพ์ลิขิต ทองรอด คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ทรัพยากรมนุษย์, การพัฒนาอย่างยั่งยืน

บทคัดย่อ

ภายหลังจากมีการนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับใช้ในประเทศไทยแล้วนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทยก็ต้องมีการนำมาปรับใช้เช่นเดียวกับการพัฒนาในด้านอื่นๆ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาอย่างช้านานแต่ส่วนใหญ่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเน้นที่การพัฒนาตามกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นเบ้าหลอมในการพัฒนาคนในท้องถิ่น ซึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยวิธีดังกล่าวไม่ได้ตอบสนองความยั่งยืนในการพัฒนาแต่อย่างใด แต่จากการศึกษาเอกสารหลายงานวิชาการที่เกี่ยวข้องพบว่า ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืนนั้นในปัจจุบันนั้นยังผูกขาดกับส่วนกลาง ในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สู่ความยั่งยืนคือ ให้มุ่งที่การเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นมีอิสระในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองเพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของบุคลากร หรือสภาพความต้องการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆอีกทั้งยักตรงกับภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะให้บริการกับประชาชนในท้องถิ่นหรือพื้นที่ของตนเองอีกด้วย นอกจากนี้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ยั่งยืนยังต้องคำนึงถึงการสร้างความสมดุลใน 3 มิติ ได้แก่ 1) สังคม 2) เศรษฐกิจ และ 3) สิ่งแวดล้อม คือการพัฒนาคนและสังคมให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล โดยพัฒนาบุคลกรให้มีผลิตภาพสูงขึ้น ปรับตัวรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีจิตสำนึกและวิถีชีวิตที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ มีสิทธิและโอกาสที่จะได้รับการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์จากการพัฒนา และคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง มีระบบการจัดการทางสังคมที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมทั้งมีการนำทุนทางสังคมที่มีอยู่หลากหลายมาใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีความสมานฉันท์เอื้ออาทรให้ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนต่อไป ในส่วนเชิงพุทธนั้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวคำสอนของพุทธศาสนา ต้องเป็นการพัฒนาที่เป็นบูรณาการ (integrated) คือ ทำให้เกิดเป็นองค์รวม หมายความว่าองค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประสานกับครบองค์ และมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ มีดุลยภาพ มีการบูรณาการ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้นจะอาศัยแต่เทคโนโลยี และวัตถุไม่ได้ ต้องพัฒนาจิตใจให้มีจริยธรรมที่นำมาปฏิบัติให้เกิดผลจริงด้วย

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยั่งยืนจะเกี่ยวข้องกับคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทุกหน่วยงาน ผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน เป็นการดำเนินงานที่สำคัญซึ่งจะทำให้สำเร็จได้ต้องประกอบด้วย 1) การพัฒนาความรู้ทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 2) กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของสังคมที่ทั่วถึงและต่อเนื่อง 3) มีความต้องการทางการเมืองที่ชัดเจนและต่อเนื่อง 4) มีอำนาจในการหล่อหลอมหรือพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นเองด้วย

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่เป็นเพียงแค่การพัฒนาการทำงานเพียงเพื่อรับคำชื่นชมจากประชาชนเท่านั้น แต่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตนั้นจะเห็นได้ว่าการวางโครงสร้างและการวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะเป็นการเชื่อมโยงประสิทธิภาพการทำงานและผลสัมฤทธิ์ที่ได้เชื่อมโยงและประสานมิติการพัฒนาสังคม มิติทางเศรษฐกิจและมิติทางสิ่งแวดล้อมเข้าไว้ด้วยกัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2015-12-30