กระบวนการกำหนดนโยบายเพื่อการจัดตั้ง “นครแม่สอด”: ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำ ในราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

ผู้แต่ง

  • นพพล อัคฮาด คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

กระบวนการกำหนดนโยบาย, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ, นครแม่สอด

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “นครแม่สอด” จังหวัดตาก โดยใช้แนวคิดชนชั้นนำในการวิเคราะห์ตัวแสดงและปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นในกระบวนการหรือขั้นตอนตามการกำหนดนโยบายซึ่งแบ่งเป็น 7 ขั้นตอน ทำการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ การสังเกตในพื้นที่ และการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ตรรกะพิจารณาความสอดคล้องของเนื้อหาแล้วนำเสนอโดยการพรรณนาตามกระบวนการกำหนดนโยบายที่วางไว้     ผลการศึกษาพบว่า กระบวนการกำหนดนโยบายเพื่อจัดตั้ง“นครแม่สอด”ให้มีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนั้นสามารถอธิบายได้ 7 ขั้นตอนซึ่งประกอบด้วย 1) ขั้นค้นหาและรวบรวมข้อมูลมีตัวแสดงสำคัญ 2) ขั้นเสนอแนะ 3) ขั้นกำหนดกำหนดและวางนโยบาย 4) ขั้นกำหนดสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับนโยบาย 5) ขั้นนำเอานโยบายไปปฏิบัติ 6) ขั้นการประเมินผลนโยบาย และ 7) ขั้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งในขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จะมีตัวแสดงที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คือ ผู้นำรัฐบาล ผู้นำท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประธานรัฐสภา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ในการกำหนดนโยบายเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนครแม่สอดได้แก่ ปัจจัยด้านพื้นที่อำเภอแม่สอดที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนา ปัจจัยด้านตัวผู้นำท้องถิ่นที่มีความสามารถในการเข้าถึงผู้กำหนดนโยบายระดับชาติ ปัจจัยจากรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องทางให้สามารถจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษได้ ปัจจัยจากผู้นำรัฐบาลในวางนโยบายสำหรับการกระจายอำนาจให้มีลักษณะยึดพื้นที่เป็นหลัก และปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลทำให้รัฐบาลภายในต้องปรับปรุงนโยบายของตนตาม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2015-12-30