บทบรรณาธิการ

Main Article Content

ฉัตตมาศ วิเศษสินธุ์

บทคัดย่อ

วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่นฉบับนี้ เป็นปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ซึ่งกองบรรณาธิการได้พยายามพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพมาตลอดระยะเวลา โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าสู่มาตรฐานวารสารระดับชาติในโอกาสต่อไป


ประเทศไทยเผชิญปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นเวลานับสิบปี สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย รัฐบาลทุกสมัยได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้จบลง แต่ไม่มีรัฐบาลชุดใดสามารถแก้ไขให้ปัญหาสิ้นสุดและสงบลงได้ การพรากชีวิตและทรัพย์สินด้วยการใช้อาวุธระเบิด และอาวุธปืนยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ เครื่องมือของรัฐที่นำมาบังคับใช้ในพื้นที่ดังกล่าวได้อาศัยกฎหมายพิเศษของฝ่ายความมั่นคงที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นหลัก โดยกฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจรัฐไว้โดยเฉพาะ ซึ่งอาจกระทบต่อการก้าวล่วงสิทธิของปัจเจกบุคคลมากกว่าปกติ เจตนาเพื่อหวังรักษาความปลอดภัยให้แก่สาธารณะและความมั่นคงของประเทศ


แต่กระนั้นก็ดี อีกมุมมองหนึ่งของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเห็นว่าอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือการใช้อำนาจเกินกว่ากฎหมายกำหนดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางรายก็เป็นได้ ซึ่งโทษของกฎหมายพิเศษนี้ เป็นการลงโทษทางอาญาที่ส่งผลให้บุคคลผู้กระทำความผิดจะต้องถูกจำกัดซึ่งอิสระเสรีภาพ ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายพิเศษพึงต้องมีความละเอียด รอบคอบ รัดกุม เพื่อป้องกัน มิให้ผู้มิได้กระทำความผิดต้องรับโทษ และต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้สิทธิต่อสู้  ในคดีอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม


อนึ่ง คำว่า “ผู้ต้องหา” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมายความถึง บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล การจะตกเป็นผู้ต้องหาได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิด โดยมีผู้เสียหายเป็นผู้กล่าวหา หรือมีหลักฐานหรือมีบุคคลยืนยันชัดเจนว่า ได้กระทำความผิด แต่ในส่วนการถูกพาดพิง หรือการถูกซัดทอด หรือสันนิษฐานว่าน่าจะได้กระทำความผิด บุคคลเหล่านี้ จึงเป็นเพียง “ผู้ต้องสงสัย” ว่าเป็นผู้กระทำความผิด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดเท่านั้น กรณีดังกล่าวพนักงานสอบสวนจำต้องพิจารณาหลักฐานอื่น ๆ ประกอบด้วย เพื่อยืนยัน หรือสนับสนุนพฤติการณ์ในการกระทำของผู้ต้องสงสัย ตลอดถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยได้ชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา หรือนำพยานหลักฐานไปแสดงต่อพนักงานสอบสวน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วย


กรณีที่ผู้ต้องสงสัยได้ชี้แจงด้วยวาจา หรือนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานสอบสวนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่สอดคล้องตามหลักการและเหตุผลหรือพยาน หลักฐาน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงให้พนักงานสอบสวนรับฟังได้ว่า บุคคลนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หรือไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แต่อย่างไรก็ตาม หากมีพยาน หลักฐานเพียงพอให้พนักงานสอบสวนรับฟังได้ว่า ผู้ต้องสงสัยได้กระทำความผิด หรือ  มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ผู้ต้องสงสัยจึงจะตกเป็นผู้ต้องหา และเมื่อปรากฏตัว   ต่อหน้าพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่ในการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาทราบทันที


 ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ได้ปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยไม่ว่าจะกระทำโดยมิได้แจ้งข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดแก่ผู้ต้องสงสัย ในขณะที่บุคคลที่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญามีสิทธิได้รับรู้ถึงข้อหาและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิด อีกทั้งกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงมิได้กำหนดให้ผู้ต้องสงสัยมีสิทธิที่จะไม่ให้การ หรือให้การต่อเจ้าหน้าที่ ในขณะที่บุคคลที่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญามีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ ทั้งในขั้นตอนการถูกจับกุมและขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองสิทธิ ไว้ว่า ในคดีอาญาจะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้


ผู้เขียนในฐานะเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย จึงประสงค์ให้สังคมตระหนักรู้ และเข้าใจว่า บุคคลผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดตามกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ไม่ได้รับสิทธิในการปกป้องตนเองต่อข้อกล่าวหาเทียบเท่ากับสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นการไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สุดท้ายแล้วสิ่งที่ผู้เขียนปรารถนาจะเห็นก็คือ กระบวนการยุติธรรมที่มีความโปร่งใสและเป็นที่ศรัทธาของประชาชนอย่างแท้จริง ดั่งสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ปล่อยคนชั่ว 10 คน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว”


วารสารฉบับนี้ ได้นำเสนอบทความวิจัย 4 เรื่อง และบทความวิชาการ 4 เรื่อง ซึ่งประกอบไปด้วยปัญหาทางด้านกฎหมายและสังคม โดยมีนักวิชาการทั้งในและนอกสถาบัน ส่งผลงานเข้ามาประเมินเพื่อพิมพ์เผยแพร่ และผลงานดังกล่าวนับว่า เป็นผลงานที่มีคุณค่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ นักศึกษา ตลอดถึงประชาชนทั่วไปได้ศึกษาถึงแนวคิด ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับใช้และประยุกต์สู่การปฏิบัติต่อไป


 


ฉัตตมาศ วิเศษสินธุ์

Article Details

บท
บทบรรณาธิการ
Author Biography

ฉัตตมาศ วิเศษสินธุ์, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

รองบรรณาธิการวารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น