การบริหารเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ

ผู้แต่ง

  • นางสาวนิรมล ยินดี นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษา

บทคัดย่อ

การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non - Custodial Measures of Women Offenders) หรือเรียกว่า ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ซึ่งได้รับการรับรองในสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2553 ทำให้ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการและกลายเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ยอมรับกันในระดับสากลและประเทศต่าง ๆ ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อยกระดับมาตรฐานของกรมราชทัณฑ์ของประเทศนั้นๆ กว่า 10 ปีที่มีการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ก็คงมีปัญหาว่า เรือนจำแต่ละแห่งจะนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงอย่างไรภายใต้ข้อจำกัดของเรือนจำแต่ละแห่ง ซึ่งปัญหาหลักที่พบเจอในเรือนจำแต่ละแห่งคือ สถานที่คุมขังมีพื้นที่ความจุไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขัง แม้ว่าจำนวนสถิติผู้ต้องขังจะลดลงตามลำดับ แต่ก็ยังคงจำนวนผู้ต้องขังที่สูงกว่าความจุที่เรือนจำจะรองรับได้ ซึ่งส่งผลต่อการบริหารเรือนจำให้สอดคล้องตามข้อกำหนดกรุงเทพ เมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขังจะส่งผลต่อการให้การศึกษา การฝึกวิชาชีพ การพัฒนาจิตใจ รวมทั้งการจัดโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง

บทความวิจัยฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาการบริหารเรือนจำให้สอดคล้องกับข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคในการบริหารเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิงตามข้อกำหนดกรุงเทพ ศึกษา กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจน บทบาทอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ  และหาแนวทางการบริหารจัดการเรือนจำของผู้ต้องขังหญิงให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ

จากการศึกษา  ปัญหาและอุปสรรคในการบริหารเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังหญิง พบว่า  สถานที่คุมขังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขัง  ทั้งในเรือนจำชายที่มีแดนหญิง และทัณฑสถานหญิง เมื่อพื้นที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขัง เรือนจำจึงจำเป็นต้องส่งตัวผู้ต้องขังไปไว้ในเรือนจำใกล้เคียง ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ ควรมีมาตรการอื่นในการลงโทษผู้ต้องขังหญิงที่มิได้กระทำผิดคดีร้ายแรงแทนโทษจำคุก เช่น การนำรูปแบบบ้านกึ่งวิถี (Halfway Hourse) ซึ่งเป็นกระบวนการสงเคราะห์ผู้กระทำความผิดทั้งที่พ้นโทษแล้ว ผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษหรือลดการลงโทษ ผู้ที่อยู่ระหว่างรอลงอาญา ผู้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งสามารถรวมถึงผู้ที่ได้รับการชะลอฟ้องได้ด้วยหากมีมาตรการชะลอฟ้อง ซึ่งจะสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2  ให้จำคุกไว้ในสถานที่อื่นตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอหรือตามที่ศาลเห็นสมควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุก ทั้งนี้ ลักษณะของสถานที่ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง กำหนดสถานที่คุมขัง ไว้ที่บ้านกึ่งวิถี (Halfway Hourse)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

12/24/2023