บทเรียนวัฒนธรรมองค์กรในการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กรณีศึกษา: องค์กรภาคประชาชนจังหวัดเชียงราย

Main Article Content

ณัฐธิดา จุมปา

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะวัฒนธรรมองค์กร ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมองค์กร ปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานและหลักธรรมาภิบาลขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจังหวัดเชียงรายในองค์กรที่ประสบความสำเร็จและประสบความล้มเหลวในการดำเนินงาน และหาแนวทางในการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรขององค์กร
ไม่แสวงหาผลกำไรในการใช้หลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน เก็บรวบรวมข้อมูลจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในจังหวัดเชียงรายที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในการดำเนินงานอย่างละ 2 องค์กร โดยใช้แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามและสนทนากลุ่มย่อยกับประธานหรือแกนนำองค์กร กรรมการ สมาชิกองค์กร และตัวแทนเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละและการหา
ค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) ผลการศึกษาพบว่า


(1) ลักษณะวัฒนธรรมองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่ในการขับเคลื่อนองค์กรร่วมกับสมาชิกและผู้นำ มีผู้นำที่มาจากภาคประชาชน องค์การบริหารส่วนตำบล และข้าราชการเกษียณอายุที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน จึงทำให้องค์กรมีพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมและผู้นำองค์กรส่วนใหญ่มีความเข้าใจในหลักการอุดมการณ์และการบริหารงานขององค์กรตามหลักธรรมาภิบาล (2) ลักษณะวัฒนธรรมองค์กรที่ประสบความล้มเหลวในการดำเนินงาน  แกนนำมีความเห็นต่างกัน ขาดความสมดุลในการจัดสวัสดิการ สมาชิกขาดการกระตุ้นอุดมการณ์และหลักการขององค์กร ไม่สามารถขยายสมาชิกเพิ่มได้ และขาดกิจกรรมสวัสดิการที่ดึงดูดให้สมาชิกเข้าร่วมองค์กร (3) บทเรียนการดำเนินงานขององค์กรที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวในการดำเนินงาน มีผลจากตัวแปร
เช่นแกนนำองค์กร สมาชิกองค์กร ทักษะการบริหารองค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องเชื่อมประสานทุกฝ่ายอย่างเป็นองค์รวมเพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน


ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมองค์กร ปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานและหลักธรรมาภิบาลขององค์กร
ไม่แสวงหาผลกำไรที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานพบว่า ตัวแปรปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินงานมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับตัวแปรวัฒนธรรมองค์กรที่ระดับสูงมาก (r = .90) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 และตัวแปรหลักธรรมาภิบาล
มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินงานในระดับสูง (r = .83) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 และ
ตัวแปรหลักธรรมาภิบาลมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับตัวแปรวัฒนธรรมองค์กรที่ระดับสูง (r = .82) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 ในองค์กรที่ประสบความล้มเหลวในการดำเนินงาน พบว่า ตัวแปรหลักธรรมาภิบาลมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับตัวแปรวัฒนธรรมองค์กรและตัวแปรปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินงานที่ระดับต่ำมาก (r = .17) และตัวแปรปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินงานมีความสัมพันธ์กับตัวแปรหลักธรรมาภิบาลในทิศทางบวกในระดับต่ำ (r = .42) โดยไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ


แนวทางการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรคือ การปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้สมาชิก สร้างผู้นำที่มีความเข้าใจในหลักธรรมาภิบาลเพื่อบริหารสืบทอด เชื่อมโยงกิจกรรมขององค์กรเข้ากับชุมชนโดยแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นภาคีการทำงานหนุนเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

Article Details

บท
บทความ

References

กัญญา วงศ์อุดร. (2549). การสร้างวัฒนธรรมองค์กร กรณีศึกษา: บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(มหาชน). โครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. กรุงเทพฯ.

สุนทร วงศ์ไวศยวรรณ. (2540). วัฒนธรรมองค์กร แนวคิด งานวิจัย และประสบการณ์. สำนักพิมพ์โฟร์เฟช. กรุงเทพฯ.

ศตวรรษ พุทธาวงศ์. (2551). ประสิทธิภาพการบริหารองค์การตามหลักธรรมาภิบาล: ศึกษากรณี สำนักงานออกแบบ
สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร. พิมพลักษณ์, กรุงเทพฯ.

สุดารัตน์ โยธาบริบาล (2554). วัฒนธรรมองค์กรการกับผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานอำเภอเมือง นครปฐม.
คณะสงคมศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. วารสารวิทยบริการ.ปีที่ 22 ฉบับที่ 2.