การพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา: กรณีศึกษาโรงเรียนเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา 3) ทดลองใช้รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา และ 4) ประเมินผลรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยวิธีการวิจัยเป็นแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ในการวิจัยมี 2 กลุ่มคือ 1) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนเขาทอง จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง และ2) กลุ่มผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลพื้นฐานได้แก่ผู้บริหาร และครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 9 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเขาทอง จำนวน 15 คน และผู้ปกครองซึ่งได้แก่ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองของโรงเรียนเขาทอง จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แบบสอบถามความคิดเห็นด้านการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ 2) แบบสัมภาษณ์เชิงลึกครูและนักเรียน 3) การสนทนากลุ่ม นักเรียน ครู คณะกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง 4) คู่มือการใช้รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน 5) แผนการจัดการเรียนรู้ 6) แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ประกอบด้วย การวิเคราะห์องค์ประกอบ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ และการวิเคราะห์ผลสืบเนื่อง และ 7) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา
ผลการวิจัยพบว่า
- ข้อมูลพื้นฐานด้านการจัดการเรียนการสอนคิดวิเคราะห์คือ 1) นักเรียนขาดทักษะการเรียนรู้ ขาดแนวคิดและทักษะการคิดวิเคราะห์ 2) ครูส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการสอนแบบดั้งเดิม เน้นเนื้อหา การท่องจำ การบรรยายและจดตาม ครูมักสอนอยู่แต่ในห้องเรียน และ 3) ไม่มีรูปแบบการสอนที่ชัดเจน กิจกรรมการเรียนการสอนไม่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์
- ผลการสร้างและพัฒนารูปแบบการสอน รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย
2.1 องค์ประกอบสำคัญ 4 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวน การจัดการเรียนรู้ และ 4) การวัดและประเมินผล
2.2 กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเรียกว่า PSPPE model ซึ่งมี 5 ขั้นตอนคือ 1) ขั้นเตรียมความพร้อม (P: Preparation) 2) ขั้นเสนอสถานการณ์ (S: Situation) 3) ขั้นฝึกกระบวน การคิด (P: Practice of critical thinking) ซึ่งแบ่งออกเป็นฝึกการคิดเป็นรายบุคคลและฝึกการคิดเป็นกลุ่มย่อยโดยใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ 4) ขั้นนำเสนอและอภิปรายผลการคิด(P: Presentation and discussion) และ 5) ขั้นประเมินผลการคิด (E: Evaluation) ซึ่งรูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นมี ความเหมาะสม และสอดคล้องอยู่ในระดับมาก (3.75 ± 0.21)
- ผลการทดลองใช้รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาพบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังการใช้รูปแบบ การสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สูงกว่าก่อนใช้รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05
- ผลการประเมินรูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษาที่พัฒนาขึ้น พบว่า รูปแบบการสอนมีประสิทธิภาพ E1/E2 เป็น 91.67/80.44 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนระดับประถมศึกษา ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (4.83 ± 0.33)
Article Details
รายละเอียดของลิขสิทธ์
References
กระทรวงศึกษาธิการ. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์คุรสภาลาดพร้าว.
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2546). การคิดเชิงวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: ซัคเซสมีเดีย.
เฉลียว บุรีภักดี. (2550). เทคนิคการวิจัยและพัฒนา. นครสวรรค์: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์.
ชลาทิพย์ อินทรเสนีย์. (2550). การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6.
วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาวิชาพัฒนศึกษา). มหาวิทยาลัยศิลปากร. นครปฐม.
ทิศนา แขมมณี. (2545). ศาสตร์การสอน. กรุงเทพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
รุ่งทิวา นาบำรุง. (2550). วิถีธรรมชาติแห่งการคิดเชิงคณิตศาสตร์เรื่องการคูณและการหารของเด็กที่มีอายุตั้งแต่7-10 ปี.
ปริญญานิพนธ์การศึกษาดุษฎีบัณฑิต (สาขาคณิตศาสตรศึกษา). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. กรุงเทพฯ.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2545 - 2559). กรุงเทพฯ:
พริกหวานกราฟฟิค.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2555).แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11
(พ.ศ.2555-2559). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน). (2555). รายงานผลการประเมินคุณภาพ
ภายนอก รอบสาม (2554-2558) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ: กลุ่มงานประเมินคุณภาพการเรียน.
สุวิทย์ มูลคำ . (2553). ครบเครื่องเรื่องการคิด. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์