จริยธรรมการตีพิมพ์
จริยธรรมการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ศึกษา (JSSE Publication Ethics)
บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนหรือผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
1. ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน
2. เนื้อหาของบทความจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของวารสาร และบทความต้องไม่คัดลอกผลงานของบุคคลอื่น
3. ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
4. ต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำสำหรับผู้เขียน”
5. ต้องปรับบทความตามรูปแบบและขนาดตัวอักษรตามแบบฟอร์ม (template) ของวารสาร
6. ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยจริง
7. ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น กรณีที่มีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในผลงานของตัวเอง รวมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความ
8. ต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหา
9. ไม่ควรนำเอกสารวิชาการที่ไม่ได้อ่านมาอ้างอิง หรือใส่ไว้ในเอกสารอ้างอิง ควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่มากจนเกินไป
10. ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ และ/หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี) จะต้องระบุในบทความ และแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editors)
1. มีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร และไม่รับตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว
2. ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
3. มีหน้าที่พิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ มีความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ โดยนำผลของการวิจัยมาเป็นตัวชี้นำว่า สมควรตีพิมพ์เผยแพร่หรือไม่
4. ต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความเพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจ แต่ต้องตรวจสอบหาหลักฐานให้แน่ชัดก่อน และแจ้งให้ผู้นิพนธ์ชี้แจงก่อนปฏิเสธบทความนั้น
5. ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์และผู้ประเมิน
6. ต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) ของบทความอย่างจริงจังโดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้
7. เมื่อบตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น ในกระบวนการประเมินบทความ ต้องหยุดกระบวนการประเมินบทความดังกล่าวทันที และติดต่อผู้เขียนเพื่อขอคำชี้แจงประกอบการพิจารณา “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้นๆ ซึ่งบรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมิน (Duties of Reviewers)
1. ต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของบทความที่ส่งให้พิจารณาแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
2. เมื่อได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสาร แล้วตระหนักดีว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน เช่น เป็นผู้เข้าร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้เขียนเป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้นๆ
3. ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้นๆ คุณภาพของการวิเคราะห์และความเข้มข้นของผลงาน ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
4. ในกรณีที่บทความที่กำลังพิจารณามีส่วนใดของบทความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานอื่นๆ ผู้ประเมินต้องแจ้งให้บรรณาธิการของวารสารทราบทันที
จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (Human Research Ethics)
ในกรณีที่เป็นความวิจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์หรือเกี่ยวกับสัตว์ วารสารวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ศึกษาจะมีการกำหนดให้ผู้เขียนส่งเอกสารการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์/การวิจัยในมนุษย์ สำหรับต้นฉบับบทความที่ส่งเข้ามารับการพิจารณาเพื่อเผยแพร่ในวารสาร JSSE ตั้งแต่ปีที่ 8 เล่ม 1 พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ขอให้ผู้เขียนดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารการรับรองจริยธรรมการวิจัยให้เรียบร้อย
สำหรับบทความใน JSSE ตั้งแต่ปีที่ 8 เล่ม 1 พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ผู้นิพนธ์ต้องระบุการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ พร้อมใส่หมายเลขใบรับรองด้วย (ถ้ามี) หรืออธิบายเกี่ยวกับการดำเนินการวิจัยที่แสดงถึงการไม่ขัดต่อจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เช่น การได้ขอความยินยอมโดยใช้เอกสารจากผู้เข้าร่วมวิจัยอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หลักความเคารพในบุคคล (Respect for person) หลักคุณประโยชน์ ไม่ก่ออันตราย (Beneficence) และหลักความยุติธรรม (Justice) เป็นต้น
สำหรับต้นฉบับบทความที่ยื่นขอพิจารณาเพื่อเผยแพร่ในปีที่ 7 เล่ม 2 พ.ศ. 2567 นี้ ทางกองบรรณาธิจะอนุโลมให้ยึดหลักเกณฑ์การส่งเสนอ manuscript ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในมนุษย์ ดังนี้
- กรณีที่ไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารรับรองจริยธรรมในมนุษย์ ได้แก่
- บทความที่ไม่ใช้เพื่อประกอบการขอสำเร็จการศึกษาหรือขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่น งานวิจัยในชั้นเรียนระดับปริญญาตรี ให้เอกสารรับรองการปฏิบัติตามจริยธรรมในมนุษย์โดยให้อาจารย์ที่ปรึกษาและประธานหลักสูตร/หัวหน้าสาขา/คณบดีลงนามรับรอง
- บทความงานวิจัยการค้นคว้าอิสระหรือสารนิพนธ์ (6 หน่วยกิต) ที่ใช้ประกอบการขอสำเร็จการศึกษา ให้ส่งเอกสารรับรองการปฏิบัติตามจริยธรรมในมนุษย์ โดยให้อาจารย์ที่ปรึกษาและหัวหน้าภาควิชาหรือหัวหน้าสาขา/ประธานหลักสูตร/คณบดีลงนามรับรอง
- กรณีที่ต้องส่งเอกสารรับรองจริยธรรมในมนุษย์ ได้แก่ บทความที่จะใช้ประกอบการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทั้งกรณีอาจารย์และครู
- กรณีที่กองบรรณาธิการจะพิจารณายกเว้น/ไม่ยกเว้นการส่งเอกสารรับรองจริยธรรมในมนุษย์ ได้แก่ งานวิจัยวิทยานิพนธ์ที่ใช้ประกอบการขอสำเร็จการศึกษา ซึ่งผู้เขียนต้องเขียนอธิบายให้อธิบายเกี่ยวกับการเข้ารับการอบรมจริยธรรมการวิจัย และ/หรือการดำเนินการวิจัยที่แสดงถึงการไม่ขัดต่อจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ทั้งนี้ กองบรรณาธิการจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ดาวน์โหลดเอกสารแบบขอยกเว้นการส่งเอกสารรับรองการการวิจัยในมนุษย์ (Word.docx)
https://docs.google.com/document/d/1PBnbdOZRlv7i4Z1_mFGiG_LqhOxgSddA/edit?usp=share_link&ouid=110552611364096854681&rtpof=true&sd=true
ดาวน์โหลดเอกสารแบบขอยกเว้นการส่งเอกสารรับรองการการวิจัยในมนุษย์ (.Pdf)
https://drive.google.com/file/d/1PBoFbSe2iMtvRlNPnJINeUotKisxJqZ4/view?usp=share_link
ทั้งนี้ ทั้งบรรณาธิการ ผู้เขียนหรือผู้นิพนธ์และผู้ประเมิน จะต้องไม่ได้ทำการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด