การปรับตัวและการธำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มแนวคิดในชุมชนมุสลิมเกาะยาวน้อย

ผู้แต่ง

  • ธนโชติ ประหยัดทรัพย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • อับดุลรอนิง สือแต

บทคัดย่อ

บทความวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การปรับตัวและการธำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มแนวคิดในชุมชนมุสลิมเกาะยาวน้อย ท่ามกลางบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ค้นคว้าจากเอกสารและภาคสนามโดยใช้เทคนิค วิธีการวิจัยทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมชาติพันธุ์วรรณาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ใช้กระบวนการการเก็บข้อมูล 4 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ต่อมาใช้การวิเคราะห์แบบอุปนัย และวิเคราะห์โดยการจำแนกชนิดข้อมูล

ผลการวิจัย พบว่า ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีส่วนให้เกิดการปรับตัวและการธำรงอัตลักษณ์ในเกาะยาวน้อยประกอบด้วย 4 ช่วงเวลา ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มศูฟียฺ กลุ่มญะมะอะฮฺ ตับลีฆ และกลุ่มสะละฟียฺ ทั้งนี้กลุ่มศูฟียฺถือ


เป็นกลุ่มที่ถูกยอมรับมากที่สุดในชุมชนมุสลิมเกาะยาวน้อย การปรับตัวหลังจากอิสมาแอล โรมินทร์ หรือปะหลางแอเสียชีวิตคือการที่มุ่งเน้นในการจัดกิจกรรมทางศาสนาที่ปะหลางแอสั่งเสียไว้ และมีการปรับตัวในเรื่องหนังสือที่ใช้สอน โดยใช้หนังสืออาหรับเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ใช้หนังสือมลายูยาวีร่วมเหมือนสมัยปะหลางแอยังมีชีวิตอยู่ ส่วนกลุ่มญะมะอะฮฺ ตับลีฆ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ ส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ ต้องจำกัดอยู่ในบริเวณมัสยิดบ้านท่าเขา และเป็นเรื่องยากที่กลุ่มญะมะอะฮฺ ตับลีฆจะธำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มในพื้นที่ และในส่วนของกลุ่มสะละฟียฺ ภายหลังจากก่อตั้งสถานศึกษา และได้มีการปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยและตั้งอยู่บนฐานของการมีศีลธรรมที่ดีงาม การปรับตัวดังกล่าวไม่เพียงแต่ยกระดับกลุ่มสะละฟียฺให้เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมกับชุมชนเท่านั้น แต่ยังป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดในประเด็นที่มีการยึดทัศนะนักวิชาการที่แตกต่างกัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-31