ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: ความเป็นมาและความหมาย
Keywords:
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, ความพอประมาณ, ความมีเหตุมีผล, การมีภูมิคุ้มกัน, การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนAbstract
บทความนี้อภิปรายถึงความเป็นมาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ประชาชนชาวไทย เพื่อเป็นกรอบในการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งฉบับที่ 9 ปรัชญาได้รับการยอมรับและนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากจะเป็นแนวทางแก้วิกฤติยังช่วยแก้ปัญหาระดับโครงสร้างจากความไม่สมดุล จากการพัฒนาในอดีต
เป้าหมายของปรัชญาคือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน สามารถรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม โดยยึดหลักทางสายกลาง ปรัชญามีองค์ประกอบคือ ความพอประมาณ ความ มีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมีเงื่อนไขพื้นฐาน คือความรู้และคุณธรรม
ความเข้าใจใน 3 องค์ประกอบ และ 2 เงื่อนไข ที่ประกอบเป็นเศรษฐกิจพอเพียงนี้จะทำให้ผู้นำไปใช้มีความชัดเจนในการประยุกต์ สามารถปรับใช้ได้กับบริบทที่แตกต่าง กันได้อย่างเหมาะสม มีแนวทางปฎิบัติในทิศทางเดียวกัน ทำให้การขับเคลื่อนมีพลัง และเมื่อนำไปใช้ในการบริหารการพัฒนาในทุกระดับ สังคมไทยก็จะมีวิถีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน