หลักเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคล : ทฤษฎีและผลการวิจัยเพื่อสร้างดัชนีในแนวจิตพฤติกรรมศาสตร์ Sufficiency Economy at Individual Level : Theory and Research Findings for The Construction of Psycho-Behavioral Indicators

Authors

  • ดุจเดือน พันธุมนาวิน
  • ดวงเดือน พันธุมนาวิน

Keywords:

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, สาขาจิตพฤติกรรมศาสตร์, ดัชนีแกนทางจิต

Abstract

    สิ่งสำคัญในสังคมไทยที่ทั่วโลกให้การยอมรับในปัจจุบัน คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มากกว่า 25 ปีแล้ว  นักวิชาการสาขาต่างๆ ได้นำองค์ความรู้มาร่วมขับเคลื่อนหลักการนี้ เพื่อให้เกิดการนำไปประยุกต์ปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริงในหมู่ประชาชนไทยให้มากยิ่งขึ้น

          นักจิตพฤติกรรมศาสตร์ที่ศึกษาสาเหตุต่างๆ และผลต่างๆ ของพฤติกรรมที่หลากหลายของมนุษย์ จึงได้ทำการวิเคราะห์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  และข้อเสนอแนะ    ของผู้สนองพระราชประสงค์  ได้พบว่า ถ้านำไปใช้ในระดับบุคคลแล้ว หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะระบุถึงสาเหตุหลายประการทางจิต ที่นำไปสู่พฤติกรรมพอเพียง  พอประมาณ ทางด้านต่างๆ  พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดผลผลิตต่างๆ ที่เป็นความเข้มแข็งของบุคคลของกลุ่มคนและของสังคม  อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าปรารถนาที่เป็นความสมดุล และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

          ในบทความนี้ นักจิตพฤติกรรมศาสตร์ ได้พบว่า การที่จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในแผนงานในการเสริมสร้างและพัฒนาประชาชนไทย   ซึ่งทางวิชาการจะต้องดำเนินการในขั้นแรกนี้ 3 ประการ คือ  ประการแรก  การกำหนดและการสร้างดัชนี เครื่องชี้วัด ที่จะนำไปใช้ในการตรวจวัดบุคคลต่างๆ เพื่อการประเมิน  การพัฒนา  และการให้การส่งเสริมต่อไป  ประการที่สอง คือ การกำหนดบทบาทของดัชนีประเภทต่างๆ  โดยเฉพาะดัชนีแกนทางจิต ซึ่งมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มความมีเหตุมีผล  กลุ่มภูมิคุ้มกันตน  และกลุ่มคุณธรรมจริยธรรมด้านการรับรู้คุณความดี   โดยมีการสร้างเครื่องมือวัดดัชนีแกนทางจิต 3 กลุ่มนี้ในหลายด้านอย่างมีมาตรฐานสูง  และ ประการที่สาม คือ การทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ดัชนีเหตุ และดัชนีผล ของดัชนีแกนเหล่านี้  โดยใช้ทฤษฎีต่างๆและผลวิจัยทางจิต  พฤติกรรมศาสตร์  โดยเฉพาะรูปแบบทฤษฎีปฏิสัมพันธ์นิยม และทฤษฎีต้นไม้จริยธรรมในการกำหนดดัชนีเหตุด้านต่างๆ ทางด้านสถานการณ์ที่เป็นการสร้างประสบการณ์และการปลูกฝังอบรมทางครอบครัว  โรงเรียน  สื่อ  ศาสนา และจากสังคมวัฒนธรรม  ที่ทำให้เยาวชนมีความหลากหลายในปริมาณของจิตและพฤติกรรมที่ระบุไว้ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  คือ จิต 3 กลุ่ม และพฤติกรรมพอเพียง พอประมาณ ตลอดจนผลลัพธ์ที่กล่าวไปแล้ว เมื่อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า อะไรคือดัชนีเหตุต่างๆ ของคนแต่ละประเภทที่สำคัญก็จะสามารถกำหนดแผนงานการพัฒนาที่สามเหตุต่างๆ เหล่านี้  อันจะทำให้เกิดผลต่างๆ เป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง ตามที่ระบุไว้ในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          ในการดำเนินการประการที่สาม คือ การประมวลผลการวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศไทยในสาขาจิตพฤติกรรมศาสตร์เพื่อระบุกลุ่มประเภทที่เสี่ยง ซึ่งหมายถึงการมีจิตลักษณะตามดัชนีแกน 3 กลุ่มที่กล่าวมาแล้วในปริมาณที่น้อย  และแสวงหาคำตอบเท่าที่มีอยู่เพื่อระบุปัจจัยปกป้อง คือ ปัจจัยเชิงเหตุต่างๆ ที่พิสูจน์จากการวิจัยว่าจะช่วยเพิ่มลักษณะทางจิตและพฤติกรรมของคนประเภทที่เสี่ยงเหล่านี้ เพื่อจะทำให้เข้ามีความพร้อมมากขึ้นในการที่จะมีพฤติกรรมพอเพียง-พอประมาณได้มากขึ้นต่อไป

          เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางจิตพฤติกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน และเป็นพื้นฐานที่จะใช้ยืนยันความเป็นไปได้ที่สาขาจิตพฤติกรรมศาสตร์จะสามารถสนองตอบในการช่วยขับเคลื่อนแผนงานวิจัยและพัฒนาเยาวชนและประชาชนไทย  ตลอดจนการแสวงหาว่า ขั้นตอนใดบ้างที่ยังขาดองค์ความรู้ทางวิชาการ เพื่อเสนอแนะการวิจัยและการพัฒนาที่ควรทำต่อไป  จึงได้มีการประมวลทฤษฎีและผลการวิจัยต่างๆ กว่า 35 เรื่อง แล้วนำมาวิเคราะห์  สังเคราะห์หาข้อสรุปต่างๆ เพื่อการดำเนินการในขั้นต่อไปให้ได้อย่างทันท่วงที

Downloads

Published

2012-09-13

How to Cite

พันธุมนาวิน ด., & พันธุมนาวิน ด. (2012). หลักเศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคล : ทฤษฎีและผลการวิจัยเพื่อสร้างดัชนีในแนวจิตพฤติกรรมศาสตร์ Sufficiency Economy at Individual Level : Theory and Research Findings for The Construction of Psycho-Behavioral Indicators. NIDA Development Journal, 47(1), 27–79. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/NDJ/article/view/2697