ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรดิน Philosophy of Sufficiency Economy and Soil Resource Management

Main Article Content

ธวัชชัย ศุภดิษฐ์

Abstract

   ปัจจุบันปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญปัญหาหนึ่ง คือ ปัญหาการเสื่อมโทรม    ของทรัพยากรดิน ทั้งในด้านความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ลดลง ปัญหาเฉพาะที่ทำให้ดินไม่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ประโยชน์ ปัญหาด้านความชื้นในดินที่ลดลง และปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ปัญหาเหล่านี้นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและต้องการการจัดการที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน ปัญหาดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นความสำคัญ จึงทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องดิน โดยเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะให้สอดคล้องกับภูมิสังคมของพื้นที่นั้น ๆ พระองค์ท่านได้นำความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ได้ทรงทดลองด้วยพระองค์เองมาใช้ในการแก้ปัญหาและได้บังเกิดผลอย่างชัดเจน อาทิ ดินทรายต้องเพิ่มกันชนให้ดิน ดินเป็นหิน กรวด และแห้งแล้งต้องยึดดินและช่วยให้ดินชื้น ดินดาน ดินแข็ง และดินลูกรังต้องสร้างของดีซ้อนบนของเลว ดินถูกชะล้างต้องช่วยเหลือด้วยกำแพงที่มีชีวิต ดินเปรี้ยวหรือดินพรุต้องทำให้ดินโกรธด้วยการแกล้งดิน และดินเค็มต้องใช้วิธีการล้างความเค็ม เป็นต้นและจากแนวพระราชดำริดังกล่าวได้มีบุคคล คือ นายสุรชัย มรกตวิจิตรการ ชุมชน คือ ชุมชนบ้านนอแล องค์กร คือ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และภาคเอกชน คือ โรงแรมชุมพรคาบาน่ารีสอร์ต ได้นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรดิน และได้มีการนำแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรดินด้วย โดยยึดหลักความพอประมาณในการใช้ประโยชน์จากพื้นดิน และมีการจัดสรรที่ดินตามความเหมาะสมกับภูมิสังคม ความมีเหตุผลในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินโดยยึดหลักความสมดุลและใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ปฏิบัติได้ง่าย และมีต้นทุนต่ำ การสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดความยั่งยืนโดยลดแนวทางการปฏิบัติที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมแก่ทรัพยากรดินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และใช้เงื่อนไขความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาตะวันออกและตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทาน ขณะเดียวกันได้ครองตนตามเงื่อนไขคุณธรรม คือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งองค์ความรู้และผลตอบแทนที่ได้รับจากพื้นดินของตนเองให้กับชุมชนรอบข้าง ซึ่งสิ่งดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรดินและความเข้มแข็งของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่มีอาชีพด้านการเกษตรกรรม

 

Article Details

Section
Articles