การวิจัยและพัฒนากรณีศึกษาเกษตรกรที่ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: ศึกษาเฉพาะกรณีจังหวัดมหาสารคาม A Development Study of Farmers’ Way of Life Based on the Sufficient-Economy Philosophy: a Case Study of Maha Sarakham
Abstract
งานวิจัยเรื่อง การวิจัยและพัฒนากรณีศึกษาเกษตรกรที่ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : ศึกษาเฉพาะกรณีจังหวัดมหาสารคาม ผลการศึกษาพบว่า :
1) บริบทของการเกษตรและเกษตรกรจังหวัดมหาสารคามทำให้ผู้วิจัยได้ภาพรวมว่า จังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่การเกษตรร้อยละ 74.94 ซึ่งแสดงถึงจังหวัดที่เป็นสังคมเกษตรกรรม และมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ชนิดพืชที่นิยมปลูกมากที่สุด คือข้าวเหนียวนาปี ซึ่งเหมาะสมกับการเพาะปลูกทุกอำเภอ และอำเภอที่ปลูกพืชเศรษฐกิจได้ทั้ง 4 ประเภทคืออำเภอโกสุมพิสัย อำเภอที่ควรจะได้รับการส่งเสริมและดูแลเป็นอย่างมากคือ กิ่ง อ.ชื่นชม ด้วยบริบทการเกษตร และเกษตรกรดังกล่าว ทำให้การส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแก่เกษตรกรเป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2) การคัดเลือก และรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปรากฏว่าทุกอำเภอมีเกษตรกรที่สามารถเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรกรทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกมีคุณลักษณะตาม ตัวชี้วัดความพอเพียง (KPI) ที่กำหนดใน 3 คุณสมบัติ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และ 2 เงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ และ เงื่อนไขคุณธรรม
3) การพัฒนาเกษตรกรที่ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พบว่าเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 13 อำเภอ เป็นเกษตรกรที่ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงระดับ ครอบครัว 6 อำเภอ ระดับชุมชน 5 อำเภอ และระดับสังคม 2 อำเภอ และการพัฒนาต้องใช้รูปแบบการสร้างความเป็นไปได้ การเพาะฟักและสร้างต้นแบบ การออกแบบและขยาย และการวิเคราะห์และเรียนรู้ เป็นแนวทางการพัฒนา
ผลการศึกษาผู้วิจัยพบว่าปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของเกษตรกรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงประสบความสำเร็จ คือการได้รับกำลังใจจากหน่วยงานรัฐเพราะเกษตรกรยังมีความเชื่อว่าการที่มีหน่วยงานรัฐไปเยี่ยมเยือน จะก่อให้เกิดกำลังใจ นอกจากจะได้ทราบแนวทางในการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ค้นพบจากการวิจัยคือ การสร้างตัวอย่างของความสำเร็จเป็นหัวใจสำคัญของการขยายแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตของเกษตรกรได้อย่างสำเร็จ เพราะสังคมเกษตรกรยังต้องการความเชื่อมั่น และหากมีตัวอย่างในชุมชนของตน มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งแล้ว จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มั่นใจ และผลักดันให้เกิดแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ประสบผลสำเร็จของเกษตรกรในจังหวัดมหาสารคามต่อไป