การประกันสังคมเกษตรกรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
Main Article Content
Abstract
ถึงแม้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด แต่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับครัวเรือนเกษตรกรกลับถูกมองข้าม และไม่ได้รับความสำคัญจากรัฐบาล ครัวเรือนเกษตรกรนอกจากจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางรายได้ ทั้งที่เป็นผลมาจากภัยธรรมชาติความผันผวนของปริมาณและราคาผลผลิต เกษตรกรยังถือเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้โครงการประกันสังคม ทำให้ครัวเรือนเกษตรกรเผชิญกับความเสี่ยงตลอดช่วงชีวิตวัยทำงานและชีวิตหลังเกษียณอายุ โดยไม่มีกลไกใดรองรับความเสี่ยงเหล่านี้ให้กับครัวเรือนเกษตรกรในปัจจุบัน ครัวเรือนเกษตรกรโดยส่วนมากจึงอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดของการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือ ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง คณะผู้วิจัยจึงเสนอแนวทางในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว คือ การประกันภัยต้นทุนการผลิตพืชผลเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านรายได้ให้กับเกษตรกรในวัยทำงาน และการประกันสังคมเกษตรกรเพื่อการบริหารความเสี่ยงด้านรายได้ให้กับเกษตรกร หลังเกษียณอายุ การประกันภัยต้นทุนการผลิตพืชผลนั้นมีสองระดับ คือ การประกันภัยภาคบังคับในระดับที่ 1 โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกเงินสมทบเบี้ยประกันภัยทั้งหมด และการประกันภัย ภาคสมัครใจในระดับที่ 2 โดยเกษตรกรและรัฐบาลร่วมกันออกเงินสมทบเบี้ยประกันภัยในอัตราส่วน 50:50 สำหรับการประกันสังคมเกษตรกรนั้น ให้ความคุ้มครองกรณีชราภาพ สงเคราะห์บุตร เสียชีวิต และทุพพลภาพ ซึ่งผลประโยชน์กรณีชราภาพเป็นผลประโยชน์ที่กำหนดจากจำนวนเงินสมทบ (Defined Contribution) แบบแยกบัญชีเงินสมทบสะสมสำหรับผู้ประกันตนแต่ละราย คณะผู้วิจัยได้คำนวณต้นทุนของรัฐบาลและผลประโยชน์ต่อครัวเรือนเกษตรกรเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการทั้งสอง