สมรรถนะของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านในการจัดการประมงร่วม Competency of Small-Scale Fisher Networks in Fishery Co-Management

Main Article Content

ณัฐทิตา โรจนประศาสน์
ธีรเดช ฉายอรุณ
เนาวรัตน์ พลายน้อย
กังวาลย์ จันทรโชติ

Abstract

     การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับสมรรถนะของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านในการจัดการประมงร่วม การศึกษามี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สร้างและตรวจสอบตัวแบบสมรรถนะ โดยสร้างตัวแบบสมรรถนะเบื้องต้นจากการทบทวนวรรณกรรม และตรวจสอบตัวแบบโดยวิธีสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ ระยะ ที่ 2 วัดระดับสมรรถนะ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถาม จากแกนนำเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน รวม 24 เครือข่าย อยู่ในจังหวัดฝั่งอันดามันตอนบน และตอนล่าง 13 และ 11 เครือข่าย ตามลำดับ ระยะที่ 3 ตรวจสอบผลระดับสมรรถนะ โดยการจัดประชุมกลุ่มย่อยผู้เชี่ยวชาญ

      การวัดระดับสมรรถนะ โดยการพิจารณาสมรรถนะเป็นรายด้าน พบว่า จากสมรรถนะ     13 ด้าน เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดฝั่งอันดามันตอนล่าง มีความสามารถในการสื่อสารอยู่ในระดับการนำ ซึ่งสูงกว่าเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดฝั่งอันดามันตอนบนที่อยู่ในระดับการประยุกต์ใช้ และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดฝั่งอันดามันตอนล่างมีความสามารถด้านการกำหนดกติกามาตรการ การต่อรอง และการได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นอยู่ในระดับการประยุกต์ใช้ ซึ่งสูงกว่าเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดฝั่งอันดามันตอนบนที่อยู่ในระดับผู้เริ่มต้น ส่วนการพิจารณาสมรรถนะทุกด้านพร้อมกัน โดยการวิเคราะห์การจัดกลุ่ม (Cluster Analysis) พบว่า จัดเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 มีศักยภาพสูง มีความสามารถในการ“ต่อรอง เชื่อมกับภายนอก สร้างความรู้ สร้างคน (รุ่นใหม่)” กลุ่ม 2 มีศักยภาพปานกลาง มีความสามารถในการ “สร้างความรู้ สร้างคนรุ่นใหม่  แต่ขาดการเคลื่อนไหว (ทางสังคม)”  กลุ่ม 3 มีศักยภาพต่ำ “ขาดการจัดการความรู้ การพัฒนาคนรุ่นใหม่ การบริหาร และภาวะผู้นำ”

     การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า สมรรถนะของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านในการจัดการประมงร่วมที่ต้องพัฒนาอันดับแรก คือ การจัดการความรู้ การพัฒนาคนรุ่นใหม่ การเชื่อมประสานกับภาคส่วนอื่น และการบริหาร

 

Article Details

Section
Articles