พฤติกรรมการอ่านของนักศึกษาปริญญาโท:ศึกษากรณีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ Reading Behavior of Master’s Degree Students: A Case Study of the National Institute of Development Administration

Main Article Content

ณัฐชยา เฉลยทรัพย์

Abstract

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจมีจุดประสงค์ที่จะศึกษาพฤติกรรมการอ่านของนักศึกษาปริญญาโทภาคปกติของคณะต่าง ๆ 7 คณะในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  กลุ่มตัวอย่างมีทั้งหมด 160 คน คณะละ 40 คน  สุ่มตัวอย่างโดยใช้เทคนิคการสุ่มแบบเชิงชั้นอย่างไม่เป็นสัดส่วน (disproportionate stratified sampling) ผลการศึกษาพบว่า ไม่มีความแตกต่าง ของพฤติกรรมการอ่านสิ่งพิมพ์ภาษาไทยและอังกฤษ ระหว่างเพศชายและหญิงในภาพรวม  แต่เมื่อศึกษาพฤติกรรมในมิติต่าง ๆพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านวัตถุประสงค์ในการอ่าน  โดยนักศึกษาหญิงอ่านหนังสือเพื่อการทำรายงานมากกว่านักศึกษาชาย ในขณะที่นักศึกษาชายอ่านเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า  นอกจากนี้นักศึกษาชายยังอ่านหนังสือในช่วงเวลาที่หลากหลายกว่านักศึกษาหญิง   ในเรื่องของความเข้าใจสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษ พบว่านักศึกษาหญิงมีความเข้าใจในการอ่านนิตยสารมากกว่านักศึกษาชาย  ในการเปรียบเทียบพฤติกรรมการอ่านของนักศึกษา 4 ภาคการศึกษาพบว่า นักศึกษาที่มีจำนวนภาคเรียนมากกว่าจะมีความเข้าใจในการอ่านตำราภาษาอังกฤษมากกว่านักศึกษาที่มีจำนวนภาคเรียนน้อยกว่า  สำหรับจำนวนชั่วโมงในการอ่านโดยเฉลี่ยต่อวัน พบว่า นักศึกษาอ่านหนังสือประมาณ 2 ชั่วโมง 17 นาทีต่อวัน โดยอ่านสิ่งพิมพ์ภาษาไทยเฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 34 นาทีและภาษาอังกฤษประมาณ 43 นาทีต่อวัน  ลักษณะการอ่านสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ผู้สอนมอบหมายคือ  การแสวงหาเอกสารแปลมาอ่านมากที่สุด (72.5%) ตามด้วยการหาเนื้อเรื่องภาษาไทยมาเทียบเคียง  (65.6%)และการแบ่งอ่านกับเพื่อนคนละตอนแล้วนำมารวมกัน (61.3%) ตามลำดับ สำหรับเอกสารการสอนเสริมการอ่านภาษาอังกฤษที่พึงประสงค์ พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องการอ่านเรื่องน่าสนใจโดยทั่วไป (72.5%) และเป็นเรื่องสั้น ๆ 1-3 ย่อหน้า (61.9%) แต่ก็มีผู้ที่ต้องการทั้งเรื่องที่น่าสนใจทั่วไปและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาของตน (49.4%)  ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจัดทำเอกสารการสอนเสริมการอ่านที่มีทั้งเรื่องทั่วไปและเรื่องเฉพาะสาขาวิชาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และเสนอแนะให้สถาบันการศึกษาจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษาด้วยตนเอง (self-access center) เพื่อให้นักศึกษาฝึกอ่านภาษาอังกฤษนอกชั้นเรียน

Article Details

Section
Articles